เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชุมชนโคกโนนนา บ้านโคกล่าม ต.นากอก อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ไปกันในที่แปลงนาของ นางบัวศิลป์ แสนสมบัติ อายุ 65 ปี หัวหน้ากลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงห้วยบักด้ง(ชุมชนโคกโนนนา)

โดยนางบัวศิลป์ กล่าวว่า  ปีนี้ครอบครัวของตนเองทำนาในเนื้อที่ 16 ไร่ นับตั้งแต่เริ่มไถดะหว่านกล้าทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว หลังจากข้าวเริ่มเจริญงอกงาม ก็เริ่มมีค่าจ้างแรงงานตั้งแต่จ้างถอนกล้าในราคามัดละ 2 บาท จนถึงค่าแรงปักดำนาก็เป็นวันละ 300 บาท นาแปลงนี้ไม่เคยใช้วิธีหยอดหรือหว่านข้าว แต่ใช้วิธีการปักดำตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นต้นมา และไม่เคยคิดที่จะใช้วิธีหว่านเมล็ดข้าวหรือหยอดข้าวเหมือนแปลงนารายอื่นๆ

นางบัวศิลป์ กล่าวว่า วันนี้พอมาถึงฤดูเก็บเกี่ยวตนเองต้องว่าจ้างชาวบ้านในละแวกมาช่วยเกี่ยวข้าว โดยจ่ายเป็นค่าแรงให้วันละ 300 บาท เครื่องดื่มเย็นๆมีตลอด ทุกวันแถมเลี้ยงอาหารกลางวัน(ส่วนข้าว)แรงงานนำมา ส่วนอาหารทางเจ้าของนาเป็นคนจัดทำประกอบเลี้ยงอาหารอย่างอิ่มหนำสำราญ ที่นี่จะไม่ใช้รถเก็บเกี่ยวข้าวเหมือนชาวนาทั่วๆไป เท่าที่ทราบค่าจ้างรถเก็บเกี่ยวและสีข้าวพร้อมทางเจ้าของรถจะเหมารวมเป็นไร่ละ 800-1000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวล้มหรือมีน้ำขัง ต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวนานราคาก็สูงกว่า 800 บาท

หากใช้วิธีจ้างรถเกี่ยวข้าว ก็ต้องเอาข้าวที่ได้จากรถเก็บเกี่ยวมาตากแดดอีก ไม่สามารถนำไปเก็บในยุงฉางข้าวได้ทันที แต่สำหรับที่นี่ไม่นิยมใช้รถเก็บเกี่ยวพร้อมสี หลังจากเก็บเสร็จที่นี่ก็จะยังคงอนุรักษ์การนำเอาข้าวเปลือกที่มัดเป็นฟ่อนๆมาเรียงเป็นลอมข้าว(กุ้มข้าวใหญ่) เสร็จแล้วก็มีนวดข้าว(ตีข้าว)ข้าวส่วนหนึ่งก็คงมีการใช้รถสีข้าว เพราะว่าแรงงานหรือการลงแขกตีข้าวจะไม่ค่อยมีกันในพื้นที่แถวนี้ ก็คงใช้รถสีข้าวเข้ามาใช้ช่วงต่อไป ก่อนนำไปไว้ที่ยุ้งฉางข้าว(เล้าข้าว) ภายในบ้าน

นางบัวศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันการบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือ(ลงแขก)เพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป อย่างนี้นับวันจะสูญหายไป ในอดีตมักจะมีการลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้น แต่ปัจจุบันประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแทบจะไม่มีให้เห็น เนื่องจากเกษตรสมัยใหม่นิยมใช้เครื่องทุ่นแรง ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรแทนการใช้แรงงานคน เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานในการเกี่ยวข้าวค่อนข้างสูง และแรงงานก็หายากเพราะคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดไม่นิยมทำงานในภูมิลำเนาเดิม

ในขณะที่นายพีระพงษ์  แก้วสุโพธิ์ อายุ 64 ปีชาวบ้านในชุมชนโคกโนนนา กล่าวว่า นาของตนเองนับตั้งแต่เริ่มปักดำจนถึงการเก็บเกี่ยวจะใช้เมล็ดข้าวในการหว่านข้าวเปลือกทั้งหมดร่วม 15ไร่ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะใช้ใช้เทคโนโลยี(รถเกี่ยวข้าว)ทุกขั้นตอน เนื่องจากขาดแรงงานคนที่จะมาเก็บเกี่ยว ส่วนเรื่องที่รัฐบาลจะประกันราคาข้าวให้ตันละ 15,000 บาท ก็พอใจและน่าจะกระทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้บ้างเพราะยังไงที่ผ่านมาชาวนาจะขายข้าวเปลือกในแต่ละปีมีแต่ราคาถูกๆ ทั้งๆที่ต้นทุนตั้งแต่เริ่มฤดูผลผลิตสูง เริ่มมีการใช้เงินตั้งแต่ช่วงข้าวกำลังเจริญงอกงามและเก็บเกี่ยวล้วนใช้แต่เงินทั้งนั้น