เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 8/2566 ว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างในวันนี้ เป็นการรับทราบการตั้งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งที่ประชุมก็รับทราบ แต่ประเด็นที่สำคัญคือการจะกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีการประชุมอนุกรรมการค่าจ้างก่อน ในวันที่ 27 พ.ย. เพื่อจะนำเรื่องเข้าประชุมในคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ เพื่อเคาะอัตราค่าจ้าง ในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ ซึ่งจะได้ทราบว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นในอัตราค่าจ้างเท่าใด ซึ่งจะมีสูตรคำนวณอยู่ เช่น ต้องคำนวณจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเลิกกิจการของนายจ้าง อัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เกิดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการพิจารณาของไตรภาคีอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าปีนี้กำหนดการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดูช้ากว่าปีก่อนๆ หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ปกติการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เราไม่ได้กำหนดทุกปี แต่เราพิจารณาตามข้อเรียกร้อง อย่างปีนี้เราก็ใช้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสมในการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างไร ไม่สามารถพิจารณาตามความพึงพอใจได้  ดังนั้นไตรภาคีจะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีความเหมาะสม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะบางจังหวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการพิจารณาก็จะต้องคำนวณตามสูตรที่มีอยู่

ถามย้ำว่าขณะนี้ยังไม่มีตัวเลข เพราะยังไม่มีการประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดใช่หรือไม่ นายไพโรจน์ กล่าวว่า ใช่ ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลดังกล่าวในวันที่ 27 พ.ย. พอหลังจากนั้น ก็จะรู้โครงร่างของแต่ละจังหวัดว่าค่ากลางของการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ควรจะปรับขึ้นเท่าไหร่ โดยจะเคาะตัวเลขในวันที่ 8 ธ.ค. และนำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งพยายามจะให้มีผลภายในวันที่ 1 ม.ค. 2567.