นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ศึกษาวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ รู้ดีว่า “เหา” แมลงประเภทปรสิตภายนอกที่ดูดกินเลือดคนเป็นอาหารนี้ เป็นหลักฐานและแหล่งข้อมูลทางพันธุกรรมชั้นดี ซึ่งเคยช่วยไขปัญหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งเผ่าพันธุ์มนุษย์มาแล้ว 

มารีนา แอสคันซี นักวิจัยด้านอณูชีววิทยาจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูลดีเอ็นเอของซากเหาจำนวน 274 ตัว ที่มีการเก็บตัวอย่างมา ร่วมกับหัวหน้าทีมวิจัยหลายทีมจากทั่วโลก จนกลายเป็นผลงานกรณีศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 กล่าวว่า เหาเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มแรก และมีวิวัฒนาการพร้อมกับมนุษย์มาตลอดเวลาหลายล้านปี เมื่อมนุษย์ยุคใหม่กลุ่มแรกออกจากดินแดนแอฟริกาไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก เหาเหล่านี้ก็ติดตัวพวกเขาไปด้วย

แอสคันซี ซึ่งทำงานวิจัยชิ้นนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของผลงานในการศึกษาหลังปริญญาเอกของเธอ ที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา พบว่า หากจัดประเภทตามพันธุกรรม จะแบ่งเหาได้ออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งแทบจะไม่มีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันเลย 

ต่อมา เมื่อมีการพบ “เหาพันธุ์ผสม” ระหว่างสองกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่พบในทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้ เป็นหลักฐานแสดงว่ามีการติดต่อกันระหว่างมนุษย์ในยุโรปและมนุษย์พื้นเมืองในทวีปอเมริกา ในช่วงของการล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา แต่ก็ยังไม่มีคำตอบว่าทำไมจึงพบเหาพันธุ์ผสมชนิดนี้น้อยมาก

แอสคันซี ชี้ว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของกรณีศึกษาใหม่นี้ ก็คือมีตัวอย่างเหาเพียงชุดเดียวที่ได้จากทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ตาม กระบวนการศึกษายังคงดำเนินต่อไปโดยใช้ตัวอย่างซากเหาทั้ง 274 ชุด ที่ใช้ในงานวิจัยชิ้นนี้ และตัวอย่างเพิ่มเติมจากพื้นที่อื่น พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อวิเคราะห์หาข้อมูลจากตัวอย่างได้มากขึ้น

ภาพขยายของไข่เหาอายุหมื่นปี ที่เกาะติดอยู่กับเส้นผมมนุษย์โบราณ
การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของเหา ทำให้เราเข้าใจการใช้ชีวิตของมนุษย์ยุคโบราณมากขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากซากเหา เป็นวิธีการที่ใช้กันมานานพอสมควร เช่น การวิเคราะห์พันธุกรรมของซากเหาโบราณที่อาศัยอยู่บนตัวคนของรายงานวิจัยฉบับหนึ่ง เมื่อปี 2553 เผยข้อมูลว่า มนุษย์รู้จักสวมเสื้อผ้ามาตั้งแต่ 83,000 ปีก่อน เป็นอย่างน้อย 

เมื่อปี 2547 เดวิด รีด หนึ่งในผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและภัณฑรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งฟลอริดา พบว่า เหาที่อาศัยอยู่บนศีรษะคน มีอยู่ 2 สายพันธุ์ ซึ่งสืบย้อนต้นตอไปได้ถึงยุคก่อนโฮโมเซเปียน หรือบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบัน ทั้งยังเสนอแนวคิดว่าเป็นไปได้ที่บรรพบุรุษของเรา เคยสัมผัสใกล้ชิดกับมนุษย์นีแอนเดอทัล ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า

หลังจากนั้น ในปี 2553 เมื่อมีการวิเคราะห์และลำดับพันธุกรรมของมนุษย์นีแอนเดอทัลเป็นครั้งแรก และพบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า มนุษย์โฮโมเซเปียนเคยติดต่อกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล รวมถึงเคยจับคู่และมีลูกด้วยกัน

กรณีศึกษาในปี 2553 ใช้วิธีวิเคราะห์ดีเอ็นเอของไมโทคอนเดรีย (ดีเอ็นเอที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกเท่านั้น) ซึ่งเก็บตัวอย่างได้ง่ายกว่าดีเอ็นเอจากนิวเคลียส (ดีเอ็นเอที่ได้จากทั้งฝั่งพ่อและแม่ อย่างละครึ่ง) แต่ในกรณีศึกษาล่าสุดนั้น มีการวิเคราะห์ทั้งดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียและดีเอ็นเอนิวเคลียส ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งทางพ่อและแม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวิจัยตรวจจับเหาพันธุ์ผสมได้ และระบุสายพันธุ์ของเหาโบราณได้หลากหลายยิ่งขึ้น

แอสคันซี กล่าวว่า ตอนที่เริ่มการวิจัยนั้น พวกเขามีข้อมูลทางพันธุกรรมของเหาอยู่น้อยมาก แต่ขณะนี้กำลังมีการวิจัยใหม่ ๆ หลายโครงการ ซึ่งใช้ระบบการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมทั้งหมดของเหาที่อาศัยอยู่บนตัวมนุษย์ จึงเป็นไปได้ว่า จะมีการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ มากขึ้นอีกในอนาคต 

ที่มา : edition.cnn.com

เครดิตภาพ : Natural History Museum of London, cell.com