แม้ฟาร์มลอยน้ำกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นเขตสงวนที่ได้รับการยอมรับจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แต่คนในพื้นที่เตือนว่า พื้นที่เพาะปลูกเหล่านี้กำลังสร้างปัญหาให้กับทะเลสาบทีละน้อย

กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับฟาร์มลอยน้ำในทะเลสาบอินเล กล่าวว่า ฟาร์มที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ทะเลสาบเหลือน้อย, เกิดการปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ และทำลายทัศนียภาพอันงดงามด้วยพืชที่ถูกทิ้ง

ด้านวิน ระบุว่า เขาเคยทำฟาร์มบนพื้นดินใกล้กับทะเลสาบ อินเล แต่ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยดีนัก เขาเลยหันมาทำฟาร์มลอยน้ำเมื่อหลายปีก่อน และในตอนนี้ เขาทำเงินได้ 3,000 จัตต่อมะเขือเทศ 1 กล่อง (ราว 50 บาท)

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรมในน้ำต้องแลกมาด้วยผลกระทบที่มีต่อทะเลสาบ เนื่องจากฟาร์มจำเป็นต้องอยู่กับที่ ทำให้วัชพืชน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวา เติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วบนผิวทะเลสาบอินเล จนบดบังพืชผลในฟาร์มไม่ให้ได้รับแสงอาทิตย์

ตามรายงานจากรัฐบาลเมียนมา สัดส่วนของฟาร์มลอยน้ำในทะเลสาบอินเล เพิ่มขึ้น 500% ระหว่างปี 2535-2552 ขณะที่ชาวพม่าในละแวกใกล้เคียงกล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อเกิดการผลิตจำนวนมาก ราคาผลผลิตก็จะลดลง

นอกจากนี้ ฟาร์มลอยน้ำไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เพราะเมื่อพืชผลที่เหลือเริ่มเสีย เกษตรกรจึงทิ้งฟาร์มเก่า และสร้างฟาร์มใหม่ขึ้นมา ส่งผลให้เศษซากของพืชที่เน่าเปื่อย ทับถมอยู่ที่ริมฝั่งทะเลสาบ

เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งจากกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานของเมียนมา กล่าวว่า ฟาร์มลอยน้ำ “กำลังทำลายทะเล สาบ” แม้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพยายามเก็บกวาดขยะอินทรีย์เหล่านี้ แต่พวกเขาไม่มีทรัพยากรในการจัดการ นั่นจึงทำให้ทะเลสาบมีพื้นที่แคบลงเรื่อย ๆ

ขณะที่รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปี 2560 ระบุว่า การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากเกินไปในฟาร์มลอยน้ำ สร้างมลพิษในทะเลสาบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศโดยรอบ

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจหลายแห่งรอบทะเลสาบอินเล ต่างแสดงความกังวลว่า พื้นผิวทะเลสาบที่ลดลง และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาที่นี่อีก

อนึ่ง ทะเลสาบอินเลเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมียนมา โดยมีชาวต่างชาติประมาณ 200,000 คน และชาวเมียนมาอีกราว 1 ล้านคน เดินทางมาเยือนที่แห่งนี้ในแต่ละปี ก่อนการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

กระนั้น เศรษฐกิจในพื้นที่กลับไม่สามารถฟื้นตัวได้ แม้จะผ่านพ้นการระบาดใหญ่มาแล้วก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2564 และการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมากับกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่รัฐฉาน สถานที่ตั้งของทะเลสาบอินเล.