ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ อาจารย์สังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะทีมวิจัยศึกษาทบทวนพืชสกุลกระเจียวในกลุ่มที่เรียกกันทั่วไปว่า “ว่านเพชรม้า” ที่มีลักษณะเด่นคือ ดอกมีสีเหลืองส้มและสีแดง ซึ่งพบว่ากลุ่มของว่านเพชรม้าประกอบด้วยกระเจียวหลายชนิด โดยในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2565 สามารถจำแนกว่านเพชรม้าชนิดแรกและได้ตีพิมพ์บทความทางวิชาการลงในวารสาร Garden’s Bulletin Singapore โดยตั้งชื่อพืชชนิดนี้ว่า กระเจียวลินด์สตรอม (Curcuma lindstromii Škorničk. & Soonthornk.) เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ นาย Anders J. Lindström ผู้รวบรวมและรักษาพรรณพืชอันดับขิง (Order Zingiberales) ที่สำคัญแห่งสวนนงนุช พัทยา

กระเจียวลินด์สตรอม เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 60 ซม. ลำต้นใต้ดินรูปไข่ขนาดเล็กมีการแตกแขนงสั้นๆ 1-3 ซม. เนื้อด้านในลำต้นสีขาวครีม ใบรูปไข่หรือไข่กว้าง แผ่นใบพับจีบ ผิวใบมีขนทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกออกที่กึ่งกลางของลำต้น ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะเด่นคือมีดอกมีสีเหลืองที่มีจุดสีน้ำตาลแดงเข้มแต้มที่ปลายกลีบปากและปลายสเตมิโนด (เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน) ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับสีแดง 20-40 ใบ กระจายพันธุ์อยู่ในเขตจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี และจัดอยู่ในพืชกลุ่มที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรในธรรมชาติมีจำนวนไม่มาก และส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ จึงมีความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ ซึ่งภาควิชาเกษตรและทรัพยากร คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร (คณะ ทอ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร จะเร่งทำการเก็บรักษาพันธุ์และอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชต่อไป

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัย ได้ศึกษากลุ่มของว่านเพชรม้าอย่างละเอียด ทำให้สามารถจำแนกกระเจียวชนิดใหม่ ได้อีก 2 ชนิด คือ “ว่านเพชรม้าล้านนา”  และ “ว่านเพชรม้าอีสาน” สำหรับ “ว่านเพชรม้าล้านนา” เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 80 ซม. ลำต้นใต้ดินรูปไข่ขนาดเล็ก เหง้าแขนงมีลักษณะผอม เนื้อด้านในลำต้นสีเหลือง ใบรูปไข่หรือไข่กว้าง แผ่นใบพับจีบ ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะเด่นคือ ใบด้านไกลแกน (ท้องใบ) ไม่มีขน ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับ 15-34 ใบ มีสีเขียวอ่อนหรือสีแดงอ่อน มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก กลีบปาก สเตมิโนดและและอับเรณูมีสีเหลืองส้ม กลีบดอกมีสีแดง เกสรเพศผู้มีความยาว 16-18 มม. มียอดเกสรเพศผู้สั้นประมาณ 1 มม. ว่านเพชรม้าล้านนา มีการกระจายพันธุ์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

ส่วน “ว่านเพชรม้าอีสาน” มีการกระจายพันธุ์ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยพบมากที่จังหวัดสกลนครและเลย นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบที่จังหวัดชัยภูมิและเพชรบูรณ์อีกด้วย ว่านเพชรม้าอีสานเป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 60 ซม. ออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน มีลักษณะคล้ายกับว่านเพชรม้าล้านนา แต่แตกต่างกันที่ใบด้านไกลแกน (ท้องใบ) มีขนละเอียดปกคลุมหนาแน่น ช่อดอกประกอบด้วยใบประดับประมาณ 14 ใบ มีสีเขียวอ่อน สีขาวครีมหรือสีแดง ไม่มีใบประดับย่อย กลีบปาก สเตมิโนดและอับเรณูมีสีเหลืองส้ม กลีบดอกมีสีแดง เกสรเพศผู้มีความยาว 19-22 มม. มีสันอับเรณูมีความยาว 2-3 มม. มีร่องที่กึ่งกลางของสันอับเรณู และจากข้อมูลการสำรวจประชากรและการใช้ประโยชน์ของว่านเพชรม้าทั้ง 2 ชนิด พบว่ายังไม่มีการใช้ประโยชน์ทำให้มีแนวโน้มถูกคุกคามไม่มากนัก และประชากรในธรรมชาติมีจำนวนมาก และยังอยู่พื้นที่อนุรักษ์ ทำให้สามารถกำหนดสถานการอนุรักษ์เบื้องต้นได้  อย่างไรก็ตาม จากลักษณะของดอกที่มีสีสันสวยงาม ทำให้กระเจียวดังกล่าว มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นไม้ประดับได้