กรณีมีคำแนะนำการแก้ปัญหาลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ โดยให้บริษัทฯ จ่ายเงินปันผล โดยหักจากยอดลูกหนี้เงินกู้ยืมกรรมการ ตามคำแนะนำนี้ มีประเด็นปัญหาทางด้านกฎหมายและภาษีอากร ที่ผู้ประกอบการต้องระวังดังนี้
1. การจ่ายเงินปันผล บริษัทฯ ต้องสำรองตามกฎหมาย ในอัตรา 5% ของกำไรสะสมในส่วนที่ยังไม่ได้เคยตั้งสำรองตามกฎหมาย
2. การจ่ายเงินปันผล บริษัทฯ ต้องมีเงินสดเพื่อจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน จึงควรเรียกคืนเงินกู้ยืมจากกรรมการ หากบริษัทฯ ไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะจ่าย
3. ต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า กำไรสะสมที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลนั้น บริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้วในอัตราเท่าใด เพื่อที่จะระบุไว้ในหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 119/2545
4. บริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 10% ของเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น และนำส่งพร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ทางอินเทอร์เน็ต ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินปันผล
5. ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากร (Final Tax) 6. กรณีผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย หรือเป็นอยู่ในประเทศไทย ย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เท่ากับ จำนวนเงินปันผล คูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบิคคุล หารด้วย (100–อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล) ได้เป็นจำนวนเท่าใด ให้นำไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมิน แล้วคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ผลลัพธ์เท่าใด ให้นำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเครดิตภาษีไปหักออกจากจำนวนภาษีที่คำนวณได้ หากเหลืออยู่ ก็ให้มีสิทธิขอคืนเครดิตภาษีที่เหลือนั้น จากกรมสรรพากร แต่ถ้าต้องชำระเพิ่ม ให้เลือกไม่นำเงินปันผลไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี จะได้ประโยชน์มากกว่า.