เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กทม. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปคม.
และตัวแทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงกรณีคนไทยที่เป็นผู้ประสบภัยจากเหตุภาวะสงครามในประเทศเมียนมา 266 คน ที่สามารถช่วยเหลือกลับมาได้ และเข้าสู่กระบวนการคัดแยกที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า NRM ที่ตั้งภายในศูนย์การเรียนรู้ กทม.ฯ

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เบื้องต้นการคัดกรอง เสร็จสิ้นไปบางส่วนแล้ว สามารถคัดแยก ออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มี 6 คน เป็นบุคคลที่มีหมายจับ ซึ่ง 4 ใน 6 เป็นบัญชีม้า ส่วนอีก 2 คนเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นๆ กลุ่มที่ 2 จำนวน 98 ราย เป็นกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ กลุ่มที่ 3 จำนวน 51 คน คัดกรองแล้วและเตรียมส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนกลุ่มที่ 4 จำนวน 75 คน เป็นกลุ่มที่ยังรอการตรวจพิสูจน์ และกลุ่มที่ 5 จำนวน 36 คน เป็นบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า มี 2 พื้นที่ในเมียนมา คือเมืองแผน มีคนไทยประมาณกว่า 100 คน และเมืองเล้าก์ก่าย ประมาณ 10 กว่าคน ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่อยู่ระหว่างการประสานให้การช่วยเหลือ ส่วนคนไทย 41 ที่ช่วยเหลือมาก่อนหน้านี้ที่ศูนย์พักพิงจังหวัดเชียงราย ยังอยู่ระหว่างการคัดแยก โดยหลังจากนี้ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการนายทุนจีนสีเทาหรือไม่ รวมถึงขบวนการคอลเซนเตอร์ด้วย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า บุคคลที่ส่งกลับบ้านไปแล้ว หากการตรวจสอบพบว่ามีความเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีในภายหลัง เพราะจะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว และยังมีรายงานว่า มี 4-5 คน ใน 5 กลุ่ม ที่เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลให้กลับ แต่เมื่อกลับมาแล้ว ก็ยังลักลอบไปประเทศเมียนมา ออกไปทำงานที่ประเทศเมียนมาอีก และแม้ว่าที่ผ่านมาจะสามารถจับได้เพียงบัญชีม้า แต่กลุ่มที่เป็นตัวการแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยเฉพาะคนที่คุยกับผู้เสียหาย อย่านิ่งนอนใจ เพราะทีมสืบสวนสามารถเช็กประวัติการโทรศัพท์ และเส้นทางการเงินได้ทั้งหมด ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร และเมื่อได้ข้อมูลเหล่านี้มาจะไปขอหมายจับสากลส่งไปยังทางการจีน และเร็วๆนี้ตนเองจะเดินทางไปขอความร่วมมือกับหน่วยงานของจีนที่ดูเรื่องนี้

ด้าน เจ้าหน้าที่ พม. กล่าวว่า ภายหลังระบวนการสืบสวน และคัดแยกออกมาแล้ว จะตรวจสอบว่ากลุ่มเหยื่อ มีความประสงค์ที่จะอยู่ในการดูแลของกระทรวง พม. หรือไม่ หรือประสงค์ที่จะกลับบ้านซึ่งหากกลับบ้านก็จะส่งต่อให้กับ พม. จังหวัด ให้ไปดูแลตามสิทธิพวกเงินกองทุนเงินสินไหมต่างๆ และยังมีรายงานจากกระทรวงแรงงานว่า เบื้องต้น แรงงานทุกคน ที่ได้รับการช่วยเหลือมาไม่มีใครที่ผ่านกระบวนการจัดหางานของกระทรวงแรงงานเลย