เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 66 พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ได้ออกคำสั่ง ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 536/2566 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน โดยมีใจความว่าด้วย พ.ต.ท.เอ (นามสมมุติ) รอง ผกก.ป. โรงพักหนึ่งในเชียงใหม่ กรณีต้องหาคดีอาญาฐาน “ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้” ตามคดีอาญาของ สภ.เหมืองจี้ จ.ลำพูน ที่ 426/2566 พฤติการณ์และการกระทำมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 112 (2),(6) และมีเหตุให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ตามกฎ จึงให้ พ.ต.ท.เอ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อนึ่ง ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.ตร. ได้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ภายใน 30 วัน

สำหรับ พฤติการณ์ของ พ.ต.ท.เอ รายนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา เหตุเกิดที่บ้านพักในสวน ต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน โดยหญิงผู้เสียหาย ทำงานเป็นพยาบาล รู้จักกับ พ.ต.ท.เอ ผ่านทางเฟซบุ๊ก วันเกิดเหตุได้นัดกันไปดื่มกาแฟในเชียงใหม่พร้อมเพื่อนอีก 2 คน จากนั้นตกเย็น พ.ต.ท.เอ และผู้เสียหาย ได้ไปรับประทานอาหารต่อที่ร้านสเต๊กชื่อดังใน จ.เชียงใหม่ โดยใช้รถยนต์ของ พ.ต.ท.เอ และได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทั่งเวลา 18.00 น. พ.ต.ท.เอ อ้างว่าเมาขับรถไม่ได้ ขอให้หญิงสาวขับรถไปส่งที่บ้านพักใน จ.ลำพูน โดยระหว่างนั้น พ.ต.ท.เอ ได้ลวนลามหญิงสาวตลอดทาง จนต้องบอกให้หยุด ถ้าไม่หยุดจะไม่ไปส่ง พ.ต.ท.เอ จึงหยุด ต่อมาเมื่อถึงบ้านพักที่เกิดเหตุ หญิงสาวได้ขอเข้าห้องน้ำ

โดยหลังจากออกจากห้องน้ำ พ.ต.ท.เอ ได้ฉุดรั้งหญิงสาวขึ้นชั้น 2 แล้วใช้กำลังข่มขืนหญิงสาวหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จความใคร่เนื่องจากหญิงสาวไม่ยินยอม ซึ่งหญิงสาวได้โทรศัพท์แจ้งญาติให้แจ้งวิทยุ 191 และแชร์โลเคชั่นบ้านพัก พ.ต.ท.เอ ที่เกิดเหตุ ให้เจ้าหน้าที่สายตรวจ สภ.เหมืองจี้ ก่อนเข้ามาช่วยเหลือออกจากที่เกิดเหตุได้สำเร็จ และหญิงสาวได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เหมืองจี้ และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา และเชิญ พ.ต.ท.เอ มาสอบสวน ที่ สภ.เหมืองจี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 66

บก.ภ.จว.เชียงใหม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์และการกระทำของ พ.ต.ท.เอ ผู้ถูกกล่าวหา ต้องหาคดีอาญาฐาน “ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้” จึงเข้าลักษณะที่เป็นความวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน