ทำเอาทุกภาคส่วน แม้กระทั่ง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยังร้องโอ๊ย! เสียงดัง รับไม่ได้กับราคาที่สูงเกินไป เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการ กกพ.ทันที เพราะทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ขัดกับนโยบายรัฐบาล

ขณะที่กระทรวงพลังงาน ก็รีบออกมาเบรกอารมณ์ทุกฝ่ายจนตัวโก่ง บอกราคาหน่วยละ 4.68 บาทนั้นเป็นแค่ตัวเลขของ กกพ.ประกาศเบื้องต้นมาเท่านั้น!! โดยรองนายกฯ และรมว.พลังงาน “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” จะไปเสาะแสวงหาหลาย ๆ มาตรการลดภาระค่าไฟให้ประชาชน ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่ ราคาใหม่ จะใกล้ ๆ หน่วยละ 4.20 บาท หรือลดลงจากราคาของ กกพ. 48 สตางค์ แต่ก็ยังสูงกว่างวดปัจจุบัน 21 สตางค์

ขณะเดียวกัน “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่า หลังจากที่ กกพ.ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรรอบเดือน ม.ค.–เม.ย. 67 ทำให้หลายฝ่ายกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับภาคประชาชนและภาคเอกชน กระทรวงพลังงาน จึงเตรียมหารือกับกกพ. พิจารณาการคำนวณค่าเอฟทีว่ามีส่วนใดบ้างที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่า จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งเตรียมหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อของบกลางมาช่วยเหลือ การลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน ให้มากขึ้นเร็วขึ้น

“ผมขอยืนยันว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามบริหารจัดการค่าไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์ด้านราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง จะพยายามทางหาลดให้ได้ เบื้องต้นคาดว่า จะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณหน่วยละ 4.20 บาท จากที่ กกพ.ประกาศค่าไฟงวดใหม่หน่วยละ 4.68 บาท หรือลดลงไปหน่วยละ 0.48 บาท โดยภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะได้คำตอบทั้งหมด”

ชี้ กกพ.ขาดความน่าเชื่อถือ
ทำให้การประกาศตัวเลขค่าไฟงวดใหม่ของ กกพ.ครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า เหมือนเป็นการเล่นปาหี่ แหกตาคนดู เพราะสุดท้ายทางภาครัฐ ก็ต้องออกมาแก้ตัวเลขอยู่ดี เหมือนยอมเป็นคนโดนด่า ด้อยค่าตัวเอง เพื่อสร้างฮีโร่ ออกมาปกป้องประชาชน หลายคนงงว่า กกพ. ถือเป็นหน่วยงานเหมือนจะอิสระ แบบสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แต่ก็ไม่อิสระเหมือนกัน เพราะตามมาตร 64 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุให้อำนาจรมว.พลังงาน ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช. กำหนดนโยบาย และแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน

หรือพูดภาษาง่าย ๆ เป็นหน่วยงานที่ดูแลค่าไฟก็จริง แต่ต้องฟังนโยบายจาก รมว.พลังงานด้วย จึงมีคำถามว่า ทำไม? กกพ. และรมว.พลังงาน ไม่คุยกันเองในบ้านให้จบก่อน แล้วค่อยออกมาประกาศราคาค่าไฟใหม่ เพราะจากที่ผ่าน ๆ มา เมื่อ กกพ. ทำประชาพิจารณ์ และประกาศค่าไฟงวดใหม่ล่วงหน้า 1 เดือนแล้ว

ตามปกติแทบไม่มีครั้งไหน? ที่มีปัญหาต้องรื้อใหม่ แต่เริ่มมีความไม่ปกติเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา จากเดิม กกพ.ประกาศลดค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. 66 อัตราหน่วยละ 4.45 บาท แต่ ครม.รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ประกาศลงเหลืออัตราหน่วยละ 4.10 บาท ขณะเดียวกันก็ยังไม่สะใจรองนายกฯ และรมว.พลังงานอย่าง “พีระพันธุ์” ที่ขอจัดเต็ม จัดหนัก จัดให้ค่าไฟเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท เท่านั้น ทำเอาพี่น้องประชาชนคนไทย หรือแม้แต่ภาคเอกชนเอง ทั้งเฮ! ทั้งงง ๆ ไปตาม ๆ กัน


โยน กฟผ.แบกหนี้
ถามว่า ดีหรือไม่? ที่รัฐจัดหนักลดให้ขนาดนี้ มองในมุมผู้บริโภค ต้องบอกว่า ดีมาก ๆ ค่าครองชีพ ถูกลง ถามภาคเอกชน ดีหรือไม่? ยิ่งตอบว่า ดี เพราะก่อนหน้านี้เคยแบกภาระค่าไฟแพง 5 บาทกว่าสูงกว่าราคาประชาชนมาแล้ว แต่ถ้ามองกันจริง ๆ การทำเช่นนี้ย่อมทำให้หน่วยงาน กกพ.ขาดความน่าเชื่อถือไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ กกพ. มองว่า ตัวเองได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผลลัพธ์ กลับถูกมองในแง่ลบ และถึงเวลาหรือยัง? ที่ กกพ. ควรทบทวนทั้ง บทบาท ทั้งวิธีการ หรือไม่?

อีกประเด็นที่น่าสนใจ และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยเช่นกัน คือ… นโยบายการลดค่าไฟที่ผ่านมา เป็นการผลักภาระให้กับการไฟฟ้าฝ้ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เต็ม ๆ ที่ต้องแบกหนี้แทนประชาชนไปก่อนถึง 1.5 แสนล้านบาท ถึงขนาดอดีตผู้ว่าการ กฟผ.คนล่าสุด เคยพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า การยืดจ่ายหนี้ของ กฟผ.รับได้แค่งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66 เป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถรับภาระเพิ่มได้อีก เพราะฐานการเงินของ กฟผ.ไม่เพียงพอ จะกระทบต่อฐานะ กฟผ. และกระทบต่อเครดิตในการกู้เงินมาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ … แต่ทุกอย่างก็กำลังกลับมาเหมือนเดิม


จี้รัฐบอกความจริง
ไม่เพียงเท่านี้!! ผู้เชี่ยวชาญ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงพลังงาน ได้ขยายความไว้ด้วยว่า การที่รัฐจะบีบให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยเหลือหน่วยละ 4.20 บาท แล้วให้ กฟผ.แบกภาระส่วนต่างเอาไว้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพราะท้ายที่สุด ผู้ใช้ไฟฟ้า จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าส่วนที่ชะลอการจ่ายนี้ในอนาคตอยู่ดี และการให้ กฟผ.แบกรับภาระที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน หาก กฟผ. ขาดสภาพคล่อง จะต้องมีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ที่เพิ่มขึ้น จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นไปอีก อาจจะมากกว่าการยอมที่จะให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริงในตอนนี้

สิ่งที่รัฐทำอยู่ มันเหมือนเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่สะสมๆมา ไม่ถูกแก้ไขถึงต้นตอ ไม่อยากให้รัฐบาลใช้คะแนนความนิยม มาบิดเบือนความจริง สิ่งที่ภาครัฐต้องทำ คือ พูดความจริงกับประชาชน ณ เวลานี้เหมือนไปคาดหวังอนาคตจะดีขึ้น แล้วค่อยมาแก้กัน ทั้งที่สงครามรัสเซีย–ยูเครน ก็ยังไม่จบ สงครามอิสราเอล–กลุ่มฮามาสก็ยังไม่จบ ล้วนแต่กระทบราคาพลังงานทั้งนั้น

ด้าน “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) มองว่า อยากให้ภาครัฐชะลอการปรับขึ้นค่าไฟออกไปก่อน เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ขณะที่คนยังมีรายได้เท่าเดิม ประกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในหลายนโยบายยังไม่ชัดเจน เช่น เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หากรายได้และรายจ่ายไม่บาลานซ์กัน จะส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดอย่างแน่นอน

“เข้าใจว่าทุกนโยบายมีเหตุและผล แต่อยากให้ไทม์ไลน์สอดรับกัน เพราะเงินที่จะให้ประชาชนยังไม่ได้ แต่รายจ่ายจากค่าไฟ ไปขึ้นรออยู่ข้างหน้าแล้ว ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. เป็นช่วงที่คนน่าจะใช้ไฟเยอะ การที่รัฐบาลลดค่าไฟ น้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ผมว่ารัฐมาถูกทางแล้ว ดังนั้นจึงต้องบาลานซ์ไทม์มิ่งกันให้ดี ๆ เพราะถ้าหากบางมาตรการออกมาแล้ว อาจไม่มีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้”

มาจนถึงเวลานี้…คงหลีกไม่ได้ที่ต้องจับตาการแก้ปัญหาโครงสร้างไฟ จะเป็นการขุดรากถอนโคนถึงปัญหาที่แท้จริงหรือไม่? เพื่อเลิกสร้างความสับสนให้กับคนไทยทั้งประเทศ ที่วันนี้ได้รับข้อมูลอย่าง!! พอรุ่งขึ้นอีกวันต้องมานั่งลุ้นอีกอย่าง!! ทั้งที่เป็นหน่วยงานกำกับเดียวกัน เหมือนเป็นการเล่นปาหี่ แหกตาคนดู ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลขาดความน่าเชื่อถืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หวังว่า การประกาศค่าไฟฟ้างวดปี 67 เป็นต้นไป จะกลับมาปกติแบบที่ควรจะเป็นไม่ใช่อยู่ในวังวนปาหี่แบบเดิมไปเรื่อย ๆ จนทำให้ทุกฝ่ายหมดความเชื่อมั่น!!.

ชี้ กกพ.ต้องปรับบทบาทใหม่  

“อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นว่า ระดับนโยบายต้องทบทวนมาตรการหรือนโยบายเรื่องค่าไฟ โดยเฉพาะในงวดใหม่ เดือน ม.ค.-เม.ย.67 ให้เหมาะสม เพราะจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศค่าเอฟทีออกมาที่หน่วยละ 89.55 สต. คิดเป็นค่าไฟหน่วยละ 4.68 บาท ซึ่งสูงขึ้นจากราคาปัจจุบันประมาณ 17% ทีเดียว และตัวเลขที่คิดออกมาเป็นตัวเลขที่ไม่มีแผนปรับปรุงลดค่าไฟฟ้า และปรับโครงสร้างใด ๆ รองรับเลย ทั้งที่หลายภาคส่วนนำเสนอแนวทางมาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้นำเสนอมาตรการระยะสั้น กลาง และ ระยะยาว แบ่งเป็นการเร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น เพื่อลดค่าเอฟที ซึ่งการที่ภาครัฐให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รัฐบาลก็ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาลมีระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น 5 ปี, ปัญหาซัพพลายสูงเกินดีมานด์ เช่น ค่าความพร้อมจ่ายหรือค่าเอพี โดยลดมาจิ้นลง ไม่เร่งการเพิ่มซัพพลาย พร้อมเพิ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาดของรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า และรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมและปลดล็อกพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม และการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ โดยการลดมาร์จิ้นก๊าซธรรมชาติ แล้วเพิ่มสัญญาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กหรือเอสพีพี ให้ใกล้เคียงกับการขายของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี และปรับสูตรราคาก๊าซธรรมชาติโดยให้ราคาขายก๊าซเพื่อใช้ในปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับขายให้โรงไฟฟ้า รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ทั้งรูปแบบระยะยาวและระยะสั้น

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวนั้น ภาครัฐควรเร่งเจรจาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติ, พร้อมเร่งทีพีเอ ระบบโลจิสติกส์ของทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และลดการผูกขาดใด ๆ รวมถึงปรับกลไกการบริหารพลังงาน และค่าไฟฟ้าทั้งระบบ ให้โปรงใสตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูล และควรจัดตั้งเวที กรอ.พลังงาน

“กกพ. ถือเป็นหน่วยงานที่ทราบปัญหาค่าไฟฟ้าดีที่สุด น่าจะมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ภาคนโยบายขับเคลื่อนได้ ไม่ควรเป็นเพียงหน่วยงานคำนวณตัวเลข เอาต้นทุน สมมุติฐานต่าง ๆ จาก โอเปอเรเตอร์มาคิดตามหลักการเดิม ๆ เพื่อไม่ต้องให้ประชาชนต้องมาลุ้นทุก 4 เดือน ว่าจะมีข่าวดีหรือข่าวร้ายจาก กกพ. อีกทั้งข่าวที่ออกมายังกระทบต่อราคาหุ้นโรงไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อไม่มีการแก้โครงสร้างค่าไฟที่เหมาะสม การนำเสนอค่าไฟที่ถูกลงเสมือนเป็นข่าวดีที่เอาใจประชาชนตามมาจากระดับนโยบาย สุดท้าย กกพ.ก็เป็นได้แค่ หนังหน้าไฟที่ให้ผู้บริโภค ให้คนไทยทั้งประเทศ ถล่มก่อนที่ภาคนโยบายจะออกมาตรการมาสนับสนุนเหมือนครั้งที่ผ่านมา”.

……………………
ทีมเศรษฐกิจ