เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เฟซบุ๊ก “หมอหมู วีระศักดิ์” หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ข้อมูลการรายงานผู้ป่วยรายหนึ่งใน American Journal of Gastroenterology ได้ระบุว่าผู้ป่วยชาย อายุ 63 ปี ได้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ประจำปี ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

ขั้นตอนดังกล่าวดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่งแพทย์ได้ส่องกล้องตรวจไปยังลำไส้ใหญ่ตามขวาง ซึ่งเป็นบริเวณด้านบนของลำไส้ใหญ่ แต่สิ่งที่พวกเขาพบ คือ มีแมลงวันที่สมบูรณ์ครบถ้วนและยังมีชีวิตอยู่

แพทย์บอกว่ามันเป็น ‘ความประหลาด’ ว่าแมลงวันเข้าไปได้อย่างไร แต่อาจเกิดจากการปนเปื้อนของผักกาดหอมที่ชายคนนั้นกินหนึ่งวันก่อนนัด

ในบางกรณีซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แมลงวันจะวางไข่ในผักและผลไม้ซึ่งรอดจากกรดในกระเพาะและฟักออกมาในลำไส้

แมลงวันและตัวอ่อนของแมลงสามารถเข้าไปรบกวนลำไส้ของมนุษย์ได้ในสภาวะที่เรียกว่า โรคหนอนแมลงวัน (Myiasis)

โรคหนอนแมลงวัน คือ โรคที่เกิดจากตัวอ่อนของแมลงวัน เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของมนุษย์ โดยตัวอ่อนของแมลงวันอาจจะดูดกินเนื้อเยื่อ ของเหลว หรืออาหารที่มนุษย์ทานเข้าไปก็ได้

โรคหนอนแมลงวัน เกิดขึ้นเมื่อมีคนกินอาหารที่มีไข่แมลงวันและตัวอ่อนเข้าไป และในบางกรณีซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ไข่แมลงวันและตัวอ่อนเหล่านี้ สามารถอยู่รอดได้จากกรดในกระเพาะและแพร่ระบาดในลำไส้ เติบโตและอาจกลายพันธุ์เป็นแมลงวันตัวเต็มวัย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ระบุว่า ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการใดๆ ปรากฏให้เห็น แต่บางรายมีอาการปวดท้อง อาเจียน และท้องเสีย

การรักษาโรคหนอนแมลงวันจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยชนิดของหนอนแมลงวัน และตำแหน่งที่อาศัยอยู่ โดยทั่วไปจะให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

วิธีป้องกัน คือ การรักษาความสะอาด และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด นะครับ

ขอบคุณเพจ หมอหมู วีระศักดิ์