เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยขั้นตอนภายหลังพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำตัวผู้ต้องหาคดีทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมสำนวนการสอบสวน รวมถึงเอกสารพยานหลักฐาน ในคดีที่มีการกล่าวหา นายชนินทร์ เย็นสุดใจ (อยู่ระหว่างหลบหนี) กับพวกรวม 11 คนในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนฯต่อพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษเพื่อพิจารณามีคำสั่งทางคดี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีหุ้นสตาร์ค เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาช่วงเวลา 14.00 น.เศษ ซึ่งเป็นคดีที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนคดีและมีการสรุปสำนวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษ ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นคดีที่มีผู้เสียหาย มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก มีการกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมด 12 คน หลบหนี 1 คน เหลือตัวผู้ต้องหา 11 คน มี 5 รายเป็นนิติบุคคล ทุกคนมาทราบนัดวันส่งตัว

โดยพฤติการณ์ คือ ผู้ต้องหาทั้งหมดได้ร่วมกันสร้างบัญชีเท็จขึ้นมาโดยเป็นบัญชีของบริษัทซึ่งไม่ตรงกับความจริง มีลักษณะเหมือนกับเป็นการสร้างรายได้ปลอมที่มีมูลค่ากำไรสูงเกินการสร้างรายได้และรายได้ปลอมผ่านทางบริษัทย่อย ที่เป็นเครือข่ายหลายบริษัท หลังจากนั้นก็มีการนำรายได้ที่สร้างขึ้นเท็จนี้ เอาไปเสนอขายหุ้นให้กับประชาชน ผ่านทางแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ และหนังสือชี้ชวนจนกระทั่งมีผู้สนใจเข้ามาซื้อหุ้นและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากรวมผู้เสียหายทั้งหมด 4,000 กว่าคน ค่าเสียหายมูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากได้เงินจากการลงทุนของประชาชนและจากผู้ลงทุนสถาบันมาแล้ว จะมีการยักย้ายถ่ายเทเปลี่ยนเงินออกไปเป็นทอดๆ มีข้อสังเกตว่าบางส่วนเป็นการนำเงินไปเข้าบัญชีส่วนตัว บางส่วนก็นำไปชำระหนี้แทนลูกหนี้การค้า ซึ่งมีการสร้างปลอมขึ้น

ภายหลังพนักงานอัยการเราได้รับสำนวนก็ได้ตรวจสอบพยานเอกสารทั้งหมดที่อยู่ในสำนวนทั้งหมด 22 ลัง รวม 130 แฟ้มเศษ มีผู้เสียหาย 4,000 กว่าคน ซึ่งภายในสัปดาห์หน้า ตนจะมีคำสั่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษประมาณ 5-7 คนมีระดับอัยการพิเศษฝ่ายขึ้นไปเป็นหัวหน้าคณะทำงาน พิจารณาสำนวนทำความเห็น และนัดผู้ต้องหาทุกคนมาฟังคำสั่งในวันที่ 12 ม.ค.2567 เวลา 10.00 น.

คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจเพราะมีความผิดในลักษณะกระทบเศรษฐกิจหุ้น ซึ่งผู้เสียหายมีเป็นจำนวนมาก ความเสียหายเป็นวงกว้างทางอัยการจะต้องพิจารณาสำนวนอย่างรอบคอบให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะ ตนคิดว่าสำนวนคดีนี้เราจะพิจารณาสั่งให้เสร็จโดยเร็ว แต่การจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องให้ทันวันที่ 12 ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในสำนวนว่าสิ้นกระแสความหรือไม่ ถ้าหากสิ้นกระแสความจนสามารถสั่งฟ้องได้หรือสั่งฟ้องไม่ได้ อัยการก็จะมีคำสั่งสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี แต่ถ้าหากว่ายังไม่สิ้นกระแสความเนื่องจากว่าขาดพยานหลักฐานสำคัญที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการพิจารณาสั่งคดี ก็จะต้องมีการสั่งให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอทำการสอบสวนเพิ่มเติม

นายวิรุฬห์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวอีกว่า นอกจากคดีฉ้อโกงหุ้นคดีนี้เเล้วทาง สำนักงานอัยการคดีพิเศษมีหน้าที่ทำคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน และมีการขอยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ยื่นขอให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษยื่นต่อศาลขอให้ยึดทรัพย์สินต่อศาลซึ่งที่ผ่านมาตนเคยได้แจ้งผ่านสื่อมวลชนว่าตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นมาคดีที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษเรายื่นขอยึดทรัพย์เราชนะคดีเกือบทุกคดี โดยศาลได้สั่งให้เราชนะคดีเป็นจำนวนเทรัพย์สินทั้งสิ้นประมาณ 30,000 ล้านบาทเศษ ในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอัยการคดีพิเศษเราก็ชนะคดียึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของเเผ่นดินเกือบ 100% โดยเฉพาะในส่วนของการขอยึดทรัพย์ฯ ตั้งเเต่ปี 2565-2566 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาทและคาดว่าในปีนี้คือ 2566-2667 ทรัพย์สินที่เราชนะและมีการยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินคาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท