เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ สำนักงาน ปปง. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษก ปปง. พ.ต.ท.จักร จุลกะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสืบสวนสอบสวนทางการเงิน และในฐานะรักษาราชการแทน ผอ.กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. พร้อมด้วย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน นายสุริยน ประภาสะวัต อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 1 สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงผลการดำเนินการกับทรัพย์สินรายคดีสำคัญประจำเดือน ธ.ค.66 ประกอบด้วย การยึดอายัดทรัพย์สินคดีกลุ่มขบวนการหมูเถื่อนเพิ่มเติม การยึดอายัดทรัพย์สินคดีเครือข่ายทุนจีนสีเทาฉ้อโกงประชาชน (กีกี้แม็กซิม) กว่า 600 ล้านบาท และการยึดทรัพย์สินคดีเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่แอบอ้างไปรษณีย์ไทย กว่า 60 ล้านบาท

นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย และในฐานะโฆษก ปปง. กล่าวว่า ทาง ปปง. ได้มีการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สิน 996 รายการ 35 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 1,191 ล้านบาท และมอบหมายพนันงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 31 รายคดี โดยในรายคดีสำคัญที่เป็นคดีสนใจของสังคมอย่างคดีขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) หรือคดีหมูเถื่อน โดยคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ตามคำสั่ง ย.226/2566 ในการนี้ ปปง.ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการ พบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการฯ มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดเพิ่มเติมไว้ชั่วคราว จำนวน 28 ล้านบาท เป็นที่ดิน รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝาก พร้อมดอกผลมูลค่าประมาณ 37 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นที่ ปปง. ได้ยึดและอายัดทรัพย์ทรัพย์สินในคดีหมูเถื่อน จำนวน 90 ล้านบาท

ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน กล่าวว่า ความคืบหน้าในการดำเนินคดีนั้น ทางคณะพนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อหาแก่บุคคลธรรมดาไปแล้วทั้งหมด 12 ราย และขณะนี้กำลังออกหมายเรียกอีก 1 บุคคลซึ่งเป็นกรรมการบริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด ให้เข้ามาให้การในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และยังได้มีการแจ้งข้อหาแก่นิติบุคคลไปแล้ว 10 ราย ส่วนการส่งสำนวน 1 คดีไปก่อนหน้านี้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เราได้มีการแยกคดีพิเศษออกเป็นอีก 9 คดี เพื่อดำเนินการกับอีก 9 บริษัทที่มาส่วนเกี่ยวข้องในการนำเข้าชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง และกระบวนการสืบสวนของดีเอสไอ เราได้ใช้มาตรการสืบสวนทางการเงิน ทำให้พบว่ากลุ่มบริษัทที่นำเข้าหมูเถื่อน หรือบริษัทชิปปิ้งเอกชน ได้มีการโอนเงินจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ อีกทั้งที่เราเพิ่งพบมาคือมีลักษณะคล้ายเอเย่นต์ในการรับโอนเงิน ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการของสถาบันการเงิน หรือไม่ผ่านการทำนิติกรรมใดๆมาก่อน นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ดีเอสไอเข้าตรวจค้นบริษัทห้องเย็น 2 แห่งในจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีเจ้าของเป็นบุคคลเดียวกันนั้น

ในส่วนของการตรวจค้นพบว่า บริษัท ทองหอม ฟู๊ด โปรดักส์ จำกัด เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์สามารถตรวจยึดชิ้นส่วนสุกรได้ 12 ตัน ส่วนอีกห้องเย็น คือ บริษัท ทรัพย์ทองหอม ฟู๊ดโปรดักส์ จำกัด เจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดได้ 125 ตัน ซึ่งทางปศุสัตว์ได้ทำการตรวจยึดไว้ทั้งหมดแล้ว เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตขนย้ายซากสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงเป็นเหตุให้ภายในสองสัปดาห์จากนี้ ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกพยาน เชิญเจ้าของสองบริษัทห้องเย็นทั้ง 4 รายเข้าให้การชี้แจง เพราะมีการโอนเงินกว่า 269 ล้านบาทให้กับผู้ต้องหาของดีเอสไอ คือ สองพ่อลูกนายทุนหมูเถื่อน กรรมการบริษัท เว้ลท์ซี่ฯ รวมถึงดีเอสไอยังอยู่ระหว่างการเตรียมรับขบวนการองค์กรอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (สุกร) ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ เป็นอีกหนึ่งคดีพิเศษ โดยขยายผลมาจากแผนประทุษกรรมตู้หมูเถื่อน 161 ตู้ ดังนั้น ดีเอสไอจึงต้องทำการขุดรากถอนโคนย้อนหลังขบวนการนี้ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน ที่มีการนำเข้าตู้หมูจำนวนมาก

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับพฤติการณ์ที่เราพบว่ามีเอเย่นต์เข้ามาเกี่ยวกับในเส้นทางการเงินนั้น ดีเอสไอได้มีการตรวจสอบพบว่ามีการมัดจำซื้อสินค้าประเภทชิ้นส่วนสุกร มีการมัดจำผ่านเอเยนต์โดยไม่มีร่องรอยนิติกรรมทางการเงิน และอีกส่วนเงินที่เหลือก็มีการโอนไปยังชิปปิ้งเอกชน และโอนต่อไปยังบริษัทต่างประเทศ ซึ่งเราก็ได้พบว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากรของกรมศุลกากร เช่น หากตู้หมูเถื่อนราคา 30,000 ดอลลาร์ ก็จะมีการโอนเงินผ่านทางเอเยนต์ 20,000 ดอลลาร์ ส่วนอีก 10,000 ดอลลาร์ จึงจะมีการโอนผ่านทางธนาคารที่เราได้เห็นในเส้นทางเงิน และก็เป็นใบอินวอยที่มีการยื่นต่อศุลกากรเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีตามอัตราที่ควรจะเป็น ทำให้เราต้องประสานไปยังต่างประเทศเพื่อที่จะได้หลักฐานเหล่านี้เข้าประกอบสำนวน จึงต้องใช้เวลาสักระยะ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอเยนต์นี้จะเป็นผู้ต้องหากลุ่มใหม่ ซึ่งจะอยู่ในขบวนการองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่กลุ่มใหม่ที่เราเตรียมจะรับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากที่ผ่านมาดีเอสไอได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมเข้าสู่สำนวนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาลสมัยที่แล้ว และพยานบุคคลที่เป็นบริษัทชิปปิ้งเอกชน 2 ราย และพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอีก 2 ราย ซึ่งเราได้ให้ความคุ้มครองพยานเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เพราะข้อมูลค่อนข้างแน่ชัดต่อการรับเป็นคดีพิเศษอีกหนึ่งเรื่อง

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า ในเรื่องเอเย่นต์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงิน ดีเอสไอพบจากพยานเอกสารที่ได้มาจากการเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา โดยเอเย่นต์เหล่านี้เป็นทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และหลักการตอนนี้ดีเอสไอใช้การสืบทางการเงินเป็นหลักใหญ่ไม่ว่าจะหาตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งตรวจสอบพบเบื้องต้นตอนนี้มี 3 บริษัทที่ดีเอสไอเคยดำเนินการทางอาญา ได้มีการใช้บริการเอเย่นต์ในการพรางเส้นทางการเงิน

ส่วนกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงความคืบหน้าการเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีหมูเถื่อนว่าทางกระทรวงฯ ได้ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอครบหมดแล้วนั้น พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีครับ ทางกระทรวงฯ ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลรายชื่อใดมาให้ ตนยังไม่ได้รับรายชื่อใดๆ ปัจจุบันเราเน้นสอบสวนในขบวนการของ 161 ตู้ และกลุ่มเจ้าของบริษัทห้องเย็นให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงขยายผลไปยังกลุ่มอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม อีกทั้งในช่วง 3 สัปดาห์หลังจากนี้เราจะเร่งรัดดำเนินการในอีก 2 สำนวนคดีที่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจาก 2 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องในขบวนการเพื่อส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง

ขณะที่ พ.ต.ท.จักร จุลกะรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสืบสวนสอบสวนทางการเงิน และในฐานะรักษาราชการแทน ผอ.กองคดี 3 สำนักงาน ปปง. กล่าวว่า ทาง ปปง. ได้ประสานกับดีเอสไอมาอย่างต่อเนื่อง และเราได้ยึดอายัดทรัพย์สินทั้งเฟส 1 ที่เป็นกลุ่มผู้ต้องหาและเป็นนอมินี ส่วนเฟส 2 ที่เราได้ยึดอายัดไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นกลุ่มนายทุน เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร 8 รายการ และอสังหาริมทรัพย์ 20 รายการ รวมเป็น 28 รายการ ส่วนเฟส 3 เรากำลังดำเนินการตรวจสอบ จะเป็นกลุ่มผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่ง ปปง. อยู่ระหว่างประสานสอดรับกับดีเอสไอ เพราะมีตัวละครเพิ่มเติมและเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งยังพบว่ามีการโอนเงินออกไปยังต่างประเทศ อยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งมีร่องรอยการทำธุรกรรม แต่บางครั้งก็ไม่พบ ซึ่งยังเหลือเงินอีกจำนวนมากที่ ปปง. ไล่สืบทรัพย์ติดตาม.