นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟสวนสนประดิพัทธ์แห่งใหม่ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขยายสถานีต้นทาง/ปลายทางขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)-หัวหิน-กรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปเป็น สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นใกล้อำเภอหัวหินได้อย่างสะดวก ซึ่ง รฟท. จะเร่งปรับปรุงทางเดินข้ามทางรถไฟ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในโอกาสนี้ได้ร่วมรับฟังการบรรยายโครงการการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้ในระยะถัดไปหลายโครงการ ประกอบด้วย 1.การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดโครงการ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

2.การทำแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งล่าสุด รฟท. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง แล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ

3.การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม โดยจะมีการก่อสร้างย่านสถานี เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีนาผักขวง เข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุสาหกรรมของกลุ่มบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน และท่าเรือน้ำลึก โดยโครงการนี้มีความสำคัญมากต่อการช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบัน รฟท. และ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทาง และรูปแบบการเชื่อมโยงในอนาคต

4.แผนการปรับปรุงขบวนรถโดยสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ซึ่ง รฟท. มีแผนจะปรับปรุงชุดขบวนรถโดยสาร 192 คัน ให้ใช้งานเป็นรถกำลังไฟฟ้า (Power Car) โดยเป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับตู้โดยสารทั้งขบวน เพื่อช่วยลดมลพิษทางเสียง และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประหยัดพลังงานให้กับประเทศ จากเดิมที่แต่ละตู้ต้องมีเครื่องปั่นไฟฟ้า เพื่อเป็นแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับแต่ละตู้เอง ทำให้ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกตู้, การปรับปรุงตู้โดยสารชั้น 3 ให้เป็นตู้โดยสารปรับอากาศ, การปรับปรุงห้องน้ำขบวนรถโดยสารให้เป็นห้องน้ำระบบปิดทั้งหมด และการปรับปรุงบันไดทางขึ้นลงขบวนรถโดยสารให้สามารถรองรับชานชาลาแบบสูง

นอกจากนี้ ยังมีแผนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในตู้โดยสาร อาทิ ติดตั้งระบบ Wifi ช่องเสียบ USB ติดตั้งระบบหน้าจอ Touchscreen ใช้ระบบ Infotainment เชื่อมต่อ Youtube Netflix กับขบวนรถดีเซลราง (Daewoo) จำนวน 39 คัน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปี 67 และแล้วเสร็จในปี 68.