วันที่ 19 ธ.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อลดความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ตามที่กระทรวงพลังงานได้เสนอ

มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลัง ในการบริหารจัดการด้านราคา ใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

2.ราคาก๊าซหุงต้ม ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 โดยบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

3.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 นอกจากนั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน

ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการทบทวนสมมุติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีการนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติในรอบนี้ด้วย

ดังนั้น จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จะอยู่ที่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย ส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยในส่วนนี้จะใช้งบกลางในการบริหาร คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท