วันที่ 19 ธ.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ 3 กลุ่ม พักหนี้เอสเอ็มอีรหัส 21, การช่วยเหลือหนี้นอกระบบ และลูกหนี้รายย่อยที่เกิดจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา

ด้าน นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางแก้หนี้ทั้งระบบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้พักหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด, สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ, ลูกหนี้รายย่อยได้รับผลกระทบโควิดตามโครงการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่ประกอบอาชีพอิสระ โดยอนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 4,900 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วยเหลือเอสเอ็มอี 400 ล้านบาท และช่วยหนี้นอกระบบ 4,500 ล้านบาท

ส่วนการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากโควิด ส่วนใหญ่เป็นของแบงก์รัฐ ทั้งธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สำรองเงินไปก่อน และมาตั้งงบประมาณขอคืนจากสำนักงบประมาณทีหลัง

นอกจากนี้การแก้ไขหนี้ทั้งระบบ จากคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยต่อไปควรกำหนดหลักสูตรในสถานศึกษา อนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา ให้มีพื้นฐานความรู้ทางด้านการเงิน ออมทรัพย์ ฉุกเฉิน และถึงช่วงเกษียณ รวมถึงการให้สินเชื่อวิเคราะห์อย่างเหมาะสม

สอดคล้องกับคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้ ได้สั่งการหนี้ทั้งระบบ ให้ทุกรัฐวิสาหกิจให้พนักงานมีเงินเหลือ 30% ของเงินเดือน สอดคล้องข้าราชการครูมีหนี้ต้องหักและมีเงินเหลือไม่เกิน 30% ของเงินเดือน พร้อมทั้งให้หารือธนาคารเอกชนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น