จากกรณีที่ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล ว่าถูกผู้ให้บริการมือถือคิดเงินค่าเอสเอ็มเอสดูดวง โดยที่ไม่ได้สมัคร ซึ่งทางผู้ให้บริการได้แจ้งว่าจะยกเลิกและคืนเงินให้ แต่เอกสารค่าบริการที่ส่งมายังมีการคิดค่าบริการอยู่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีประชาชนถูกคิดค่าบริการลักษณะนี้จำนวนมากนั้น

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้บริโภคถูกคิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครบริการมีมานานแล้ว และปัจจุบันก็ยังมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. ต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีการวินิจฉัยในหลายกรณีของหลายบริษัทแล้วว่า การส่งเอสเอ็มเอสคิดเงินโดยไม่สมัคร เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งได้มีการแจ้งคำสั่งหากยังฝ่าฝืนจะโดนปรับทางปกครอง เช่น ปรับขั้นต้น 5 ล้านบาท และปรับรายวัน วันละ 1 แสนบาท เป็นต้น แต่ในปี 66 นี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนอยู่ แสดงว่าผู้ให้บริการมือถือยังมีการฝ่าฝืน ทางอนุกรรมการฯ จึงเสนอนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อให้แจ้งเตือนให้ทางผู้ให้บริการมือถือหยุดดำเนินการลักษณะนี้ ไม่เช่นนั้นจะโดนโทษปรับ ซึ่งเชื่อว่าหากเริ่มมีการปรับแล้ว เชื่อว่าจะหยุดส่งเอสเอ็มเอสแบบนี้ได้

สำหรับผู้บริโภค หากถูกคิดเงินโดยไม่ได้สมัครบริการสามารถร้องเรียนมาทาง กสทช.ได้ที่ โทรฯ 1200 ซึ่งจะให้ทางผู้ให้บริการมือถือพิสูจน์ว่าผู้ใช้บริการสมัครหรือไม่ ถ้าไม่ได้สมัครต้องคืนเงินผู้ใช้บริการ และหากผู้ให้บริการมือถือบอกว่ามีหลักฐานการสมัคร ก็ต้องมีการพิสูจน์กันต่อว่าหลักฐานที่แสดง เป็นหลักฐานจริงหรือเท็จ เพราะมีบางกรณีที่ร้องเรียนแล้ว บริษัทยอมรับว่า คอนเทนต์ พาร์ทเนอร์ เป็นผู้ส่งหลักฐานเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ให้บริการมือถือต้องหยุดร่วมให้บริการกับคอนเทนต์ พาร์ทเนอร์ รายนั้นๆ

“ตามประกาศ กสทช. หากมีการร้องเรียนเรื่องคิดค่าบริการไม่ถูกต้อง บริษัทผู้ให้บริการมีหน้าที่พิสูจน์ใน 60 วัน ถ้าหากใน 60 วัน ไม่มีการพิสูจน์ ให้ถือว่าหนี้สูญ ผู้ใช้บริการไม่ต้องจ่าย ซึ่งหากเรื่องเกิดมาหลายปีแล้ว บริษัทมีการเรียกเก็บค่าบริการ ถ้าบริษัทหาหลักฐานมาไม่ได้ ถือว่าเรื่องจบในตัว ไม่ต้องจ่าย และหากจ่ายเงินแล้วบริษัท ผู้ให้บริการต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคด้วย” นพ.ประวิทย์ กล่าว