นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัวที่ 2.5-3.1% การส่งออกขยายตัวในรอบสองปี ขยายตัวอยู่ที่ 2.2-2.5% แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า โดยระดับความเสี่ยงตัวแปรเศรษฐกิจไทยที่มีผลต่อจีดีพี ปี 67 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มี 9 จุดเสี่ยง

โดยความเสี่ยงที่ 1 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดเศรษฐกิจโลก ขยายตัว 2.9% และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี คาดเศรษฐกิจโลก ขยายตัว 2.7% โดยประเทศพัฒนาแล้วเศรษฐกิจ ขยายตัว 1.4% และตลาดใหม่และประเทศกําลังพัฒนา ขยายตัว 4%

ส่วนความเสี่ยงที่ 2 หนี้คนไทยมหาศาล ทํากําลังซื้อและเศรษฐกิจลดลง โดยมีหนี้ครัวเรือนรวม 19 ล้านล้านบาท ทั้งในระบบ และนอกระบบ ทำให้เป็นจุดเปราะบางสำคัญของประเทศไทย

ความเสี่ยงที่ 3 การปิดตัวธุรกิจไทย โดยธุรกิจไทยเสี่ยงปิดกิจการ ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจรถยนต์มือสอง ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน มอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและกล่องกระดาษ ธุรกิจอาหารแช่แข็งขายในตลาดสด ธุรกิจค้าปลีกห้องแถว ธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตรแบบล้าสมัย และธุรกิจสิ่งทอที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์

ความเสี่ยงที่ 4 สงครามภายใต้ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบการส่งออกไทย ราคาน้ำมัน การค้าและการขนส่งทางเรือ

ความเสี่ยงที่ 5 อัตราดอกเบี้ยผันผวนมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ความเสี่ยงที่ 6 ศักยภาพการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอ ต่ำ โดยสินค้าส่งออกไทยอยู่ในกลุ่มศักยภาพต่ำสุด และเอฟดีไอไทย ยังคงติดหล่ม อันดับ 5 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

ความเสี่ยงที่ 7 คือ การพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมากเกินไป ซึ่งไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนถึง 16.2% ต่อจีดีพี ซึ่งเศรษฐกิจจีนปี 67 จะชะลอตัวอยู่ที่ 4.2% ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งอออกได้

ความเสี่ยงที่ 8 ปัญหาเอลนีโญส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย อยู่ที่ 26,234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าการส่งออกลดลง 4% กระทบการส่งออกรวม 8.8% ถึง 9.3%

สุดท้ายความเสี่ยงที่ 9 ต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าแรง ค่าไฟ และราคาน้ำมันสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขัน

“วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในทะเลแดงขณะนี้ คาดการณ์ว่า จะส่งผลให้เส้นทางขนส่งทางด้านการค้าต้องสะดุด เพราะเรือขนส่งสินค้าต้องเปลี่ยนเส้นทางทำให้ล่าช้าออกไป 1-2 สัปดาห์ ซึ่งกระทบเรื่องของราคาน้ำมัน เชื่อว่าราคาน้ำมันพุ่งไปอยู่ที่ 85-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนระวางและค่าประกันภัยจะเพิ่มขึ้นอีก 10-15%”