โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่นักลงทุนต่างชาติไม่ได้เดินทางเข้ามาในไทยเหมือนกับที่คาดหวังไว้ ยิ่งนักท่องเที่ยวจากจีนอาจมาน้อยเพราะสารพัดเหตุที่กระทบความเชื่อมั่น รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอทำให้การส่งออกสินค้าไทยเกิดชะงักไม่อาจเติบโตได้ในปีกระต่าย

นายกฯ ยอมรับหนักใจ

จนทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ถึงกับบ่นออกมาว่า หนักใจ!!! โดยยอมรับว่าหนักใจเรื่องเศรษฐกิจเพราะอยู่ในช่วงวิกฤติ และยังหนักใจหลายเรื่องรวมถึงเรื่องค่าแรงที่ยังต่ำอยู่ แม้เศรษฐกิจไทยปี 66 จะจบลงแล้วแต่ตัวเลขทั้งปีอาจต้องรอเดือน ก.พ. 67 ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์จะเปิดตัวเลขที่แท้จริงออกมา แต่ตามคาดการณ์ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจแทบจะทุกสำนักให้เศรษฐกิจไทยปี 66 ไม่ถึง 3% เกือบจะ 100%

แม้เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะเป็นช่วงวิกฤติตามที่ “นายกฯ เศรษฐา” ได้หนักใจ แต่เริ่มเข้าสู่ปีใหม่อะไร ๆ ก็เริ่มจะดีขึ้น และยิ่งเป็นปีของมังกรทอง เศรษฐกิจไทยปี 67 จะรุ่งเรือง มั่งคั่ง สมกับที่หลายคนหวังใจไว้ มีสำนักเศรษฐกิจและหน่วยงานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจปีมังกรทองจะขยายตัวมากกว่าปี 66 แน่นอน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ดูจะดีขึ้นทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ส่องแนวโน้มจีดีพีปี 67

ในปี 67 หลายสำนักวิจัยได้ให้ปัจจัยไว้หลายมุมมองแต่ที่สำคัญคือโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะที่ผ่านมาพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว หรืออิงกับต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งพยายามผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ การใช้จ่ายบริโภคแต่ก็ไม่อาจทดแทนกันได้ ซึ่งปัจจัยต่างประเทศไม่สามารถควบคุมและมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางรัฐบาลเศรษฐาพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, การลดหย่อนภาษีด้วยอีซี่ อี-รีซีท 50,000 บาท และอีกหลายอย่าง

หลายธนาคารที่มีศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ อย่าง “วิจัยกรุงศรีฯ” ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 67 ขยายตัวสูงถึง 3.4% ไม่นับรวมเงินดิจิทัลวอลเล็ต แตกต่างจากที่อื่น “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี” ขยายตัวเพียง 3.1% หากนับรวมเงินดิจิทัลด้วยก็จะขยายตัวเพิ่มเป็น 3.6%, “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัว 3.1% ถ้ารวมเงินดิจิทัลจะเป็น 3.6% เช่นกัน ขณะที่ “เอสซีบี อีไอซี” คาดปี 67 จีดีพีไทยได้แค่ 3% แต่เพิ่ม 1% หากมีเงินดิจิทัลวอลเล็ตในระยะ 2 ปี ด้าน “ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส” ให้จีดีพีปี 67 ขยายตัว 3% และอาจถึง 4% ถ้ามีเงินดิจิทัลเข้ามา ส่วน “ซีไอเอ็มบีไทย” คาดขยายตัว 3.1% อาจเพิ่มเป็น 3.6% หากมีดิจิทัลวอลเล็ต

ความยั่งยืนการคลัง

ขณะที่หน่วยงานต่างชาติ อย่าง “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ได้คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไทยปี 67 ขยายตัวเหลือ 3.2% จากคาดเดิม 3.5% ไม่รวมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ตจะเพิ่มอีก 1% กระจายใน 2 ปี มองว่าจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65-66% จาก 62% ของจีดีพีในปัจจุบัน พร้อมให้ความเห็นว่า ความยั่งยืนทางการคลังเป็นสิ่งที่ไทยต้องตัดสินใจ

“เวิลด์แบงก์” ระบุว่า ไทยมีทางเลือกต้องตัดสินใจใช้พื้นที่ทางการคลังอย่างไร เพื่อลงทุน สังคม สูงอายุ กรณีที่ใช้เงินดูแลภาคสังคมอย่างเต็มที่ และลงทุนการศึกษา สิ่งแวดล้อม จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก แต่เรื่องหนี้สาธารณะถ้าปรับนโยบายใช้เงินให้เจาะจง จะสามารถลดลงได้ และถ้าดูแลภาคสังคม เพิ่มรายได้ทางภาษี เพิ่มพื้นที่ทางการคลัง จะลดหนี้สาธารณะมาเหลือ 40% ของจีดีพี

จับตาเงินดิจิทัลเสี่ยง

“แบงก์ชาติ” เกาะติดนโยบายรัฐโดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยในปี 67 ขยายตัวได้ 3.2% หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลวิลเล็ต จะขยายตัวได้ถึง 3.8% แม้ในตอนนี้เงินดิจิทัลวอลเล็ตในปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก และยังไม่เห็นความชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ ท่ามกลางพื้นที่ทางการคลังที่มีข้อจำกัดมากขึ้น อาจสร้างภาระการคลังเพิ่ม และทำให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ทุกคนต้องจับตา

“ซีไอเอ็มบีไทย” ยังได้ให้ความเห็นว่าแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลหรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการบริโภคทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย แม้ว่านโยบายนี้สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่ยังทำให้เกิดความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตและการไหลออกของเงินทุน

ปัจจัยลบ ความท้าทาย

เห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 ยังมีหลายเรื่องที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและยังคาดเดาไม่ได้ ทั้งเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้น ส่งผลให้การส่งออกอาจมีแนวโน้มได้รับผลกระทบและกระทบกับการท่องเที่ยว ขณะที่การลงทุนในไทยจำเป็นต้องได้รับการเชิญชวน เหมือนกับที่นายกฯ เศรษฐา พยายามเดินสายเป็นเซลส์แมน ไปชักชวนต่างชาติ บริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนในไทย เนื่องจากประเทศไทยขาดการลงทุนโดยตรงมานาน

ความท้าทายหลักของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย เรื่องแรกการส่งออกฟื้นตัวได้จำกัด จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงยาวนาน ซึ่งเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในปี 67 ขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลงและอาจขยายตัวไม่ถึง 5% จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

เรื่องที่สอง นักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบาง และจีนมีมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยจากการท่องเที่ยวในไทย  ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 32.9 ล้านคน

เรื่องที่สาม นโยบายการเงินของไทยที่ตึงตัวภายหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ตลอดปี 66 ส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจและครัวเรือน และยังต้องติดตามมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบที่เน้นเรื่องวินัยการไม่สร้างหนี้เกินกำลัง โดยมีผลตั้งแต่ ม.ค. 67 ซึ่งอาจกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของครัวเรือน

แนวทางบริหารนโยบายปี 67

“สภาพัฒน์” คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 3.2% ไม่นับรวมเงินดิจิทัล ซึ่งจะขยายตัวได้จากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยแนวทางบริหารนโยบายในปี 67 คือ 1.ควรให้ความสำคัญกับนโยบายการเงินการคลังสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

2.เตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบความเสี่ยงเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 3.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาจเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปตลาดใหม่ ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ปควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี

4.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดให้ผู้ประกอบการได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมกการลงทุนในช่วงปี 64-66 ให้ลงทุนจริง และเร่งอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน 5.สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

6.ดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง สร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านระบบประกันภัยพืชผล ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ยและวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ และ 7.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณและติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ

ในปี 67 เศรษฐกิจปีมังกรทอง ยังคงมีอุปสรรค และความเสี่ยงมากมาย แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนบ้างแต่ระหว่างทางอาจไม่เป็นดังหวัง เพราะโจทย์หลักเศรษฐกิจไทย คงไม่ใช่แค่ต้องการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เพิ่มกำลังการใช้จ่าย แต่ต้องเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่สะสมมานานจนยากแก้ได้ในเร็ววัน ซึ่งทั้งหมดเป็นการวัดฝีมือรัฐบาลเศรษฐา ว่าจะบริหารประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้มากน้อยแค่ไหน.

ทีมเศรษฐกิจ