หากเอ่ยชื่อแบรนด์ Ek Thongprasert (เอก ทองประเสริฐ) อาจนึกถึงตัวแทนของความลักซัวรี่ในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนความสร้างสรรค์ของ เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์มากฝีมือผู้ได้รับรางวัลการันตีระดับสากล ปัจจุบันไม่ยอมจำนนต่อการขยับตัวของโลกแฟชั่น หันมาแตกไลน์แบรนด์ใหม่ สคัปเจอร์ (Sculpture) รุกตลาดจีนด้วยเสื้อผ้าแนวสตรีท และจับมือกับ พี.เจ.การ์เมนท์ เปิดตัว “W2W (ดับบลิวทูดับบลิว)” แบรนด์ใหม่ที่น่าจับตามองในวงการยูนิฟอร์มของเมืองไทย

สำหรับ ดับบลิวทูดับบลิว เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะสร้างมิติใหม่ในการออกแบบยูนิฟอร์ม ด้วยการนำเทคนิคชั้นสูงในการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น โดยคำนึงถึงความคล่องตัว และความสะดวกสบายของผู้สวมใส่เป็นหลัก สะท้อนนิยามความเป็น “ไลฟ์ ยูนิฟอร์ม” ให้ยูนิฟอร์มเป็นมากกว่าชุดทำงานทั่วไป สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สวมใส่ เพิ่มความสะดวกสบายในการดูแลรักษา และช่วยยืดอายุการใช้งานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน

คุณเอกเล่าที่มาของแบรนด์น้องใหม่ว่า “ก่อตั้งมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แนวคิดการทำงานตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจกับตัวแบรนด์ของลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาตัดชุดยูนิฟอร์ม เพื่อให้เข้าใจในคอนเซ็ปต์ของบริษัทแต่ละแห่ง ทว่าต้องผ่านมุมมองที่ร่วมสมัย เรามองแล้วอิงจากข้อเท็จจริงตัวแบรนด์ของลูกค้า ผ่านมุมมองที่เรารู้สึกถึงสังคมในขณะนั้น อันนี้คือจุดเด่นของเรา”

การหันมาจับงานตรงนี้ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว หากแต่เป็นผลงานยุคแรกเริ่มที่สร้างชื่อของคุณเอกด้วยซ้ำ “ผมนำความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบยูนิฟอร์ม สไตล์ “เทลเลอร์ เมด” ให้กับลักซัวรี่แบรนด์ของไทยมากว่า 10 ปี อาทิ โรงแรมดับเบิลยู สาทร, ไอคอนสยาม ฯลฯ วันนี้ได้หวนกลับมาทำอีกครั้ง ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราชอบที่จะทำตัวยูนิฟอร์มเป็นอีกธุรกิจที่แฝงตัวอยู่ในแฟชั่น สนุกเหมือนกันแต่วิธีการเข้าถึงมันต่างกัน เพราะยูนิฟอร์มพูดถึงส่วนรวมคือทุกคน ไม่ว่าจะสีผิวอะไร รูปร่างอะไร ใส่แล้วต้องดูดี แตกต่างจากแฟชั่นมีภาพลักษณ์ของลูกค้าอยู่ในหัวมาก่อน”

ในส่วนของแบรนด์สร้างชื่อ “เอก ทองประเสริฐ” ดีไซเนอร์คนดังกล่าวว่า ช่วงนี้เบรกไว้ชั่วคราว เนื่องจากพยายามจะปรับรูปแบบการนำเสนอ เมื่อก่อนทำเป็นพ็อกเก็ตชั่นแวร์ พอโควิด-19 มาปั๊บ มองว่าในอนาคตโอกาสที่คนจะแต่งตัวมางานกาล่า ดินเนอร์ หรูหรา คงมีไม่มาก วิถีชีวิตของคนอาจไม่ต้องเจอหน้ากัน ตอนนี้กำลังโฟกัสกับการทำแบรนด์ “สคัปเจอร์” ซึ่งกำลังเติบโตอย่างดีในตลาดจีน สคัปเจอร์ออกแนวสตรีทสไตล์ มีความสนุก เพราะมองกลุ่มเป้าหมายที่เจเนอเรชั่นวาย ทัศนคติมองโลกในแง่บวก แต่ในแง่บวกนี้ยังแฝงการกระแหนะกระแหน หยอกล้อกับคอนเซ็ปต์ “แคปปิตอลลึซึ่ม” โดยรีแบรนด์ดิ้งแบรนด์ “คูเรเตด” เป็น “สคัปเจอร์”

“ผมทำการตลาดควบคู่กับการทำประชาสัมพันธ์ผ่านแอพลิเคชั่นวีแชทไปด้วย โดยร่วมมือกับหุ้นส่วนชาวจีนให้เข้ามาดูแลตรงนี้ วันข้างหน้าหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ผู้คนสามารถกลับมาเดินทางกันได้ปกติ พอมีลูกค้าคนจีนมาเมืองไทย ยังสามารถมาเจอกับแบรนด์ชองเราในเมืองไทยได้เช่นกัน” เอกกล่าว

ความชะงักงันของสภาพสังคม ช่วงโควิด-19 คุณเอกอาศัยจังหวะเวลาว่างนี้ ศึกษาต่อหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งล่วงเลยมาถึงครึ่งทางของการเป็น “ด็อกเตอร์” แล้ว คุณเอกเล่าที่มาของการใฝ่เรียนว่า “ผมรู้ตัวว่าสนใจแฟชั่น ตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ยอมเรียนสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เพื่อครอบครัว หลังจากนั้นขอเลือกเดินตามความฝันของตัวเอง ด้วยการเข้าเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ที่ Fashion Department of the Royal Academy of Fine Arts Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม

“มันเป็นการตั้งโจทย์จากประสบการณ์ตลอดชีวิตในวงการแฟชั่น หาคำตอบว่าไทยดีไซน์คคืออะไร ซึ่งทุกวันนี้เหมือนปัญหาโลกแตก ยังคงเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวงการ ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี โปรดักซ์ กราฟฟิฟ รวมถึงในหัวผมด้วย ผมพยายามหาจุดนี้ แล้วย่อยลงมาเป็นย่าน ผมมองว่าการพัฒนาย่านวัฒนธรรม จะทำการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนขึ้น ผู้คนจับอัตลักษณ์ตรงนี้ แล้วสร้างรูปแบบธุรกิจได้ ผมอยากสร้างเครื่องมือเพื่อให้คนนำไปพัฒนาธุรกิจของตัวเอง หรือตัวงานดีไซน์ที่จับต้องได้” คุณเอกเล่าถึงเหตุผลของการเลือกทำวิจัยหัวข้อ ชื่อ “แก่นของพื้นที่”

ระยะหลังผมเริ่มผันตัวมาเป็น “ศิลปิน โปรดักซ์ ดีไซน์” ทำให้ได้รื้อฟื้นความรู้ สมัยเรียนสถาปัตย์มาใช้งานจริง รวมถึงความรู้ด้านแฟชั่น จริงๆ แล้วงานแก่นของงานดีไซน์มันคืออันเดียวกัน แค่ตรงกลางชั้นที่เขยิบขึ้นมามันแตกต่างกัน ถ้าเราได้แก่นมาแล้วก็เชื่อมั่นได้ว่า เราสามารถออกแบบอะไรได้หมด ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี ซึ่งบางครั้งหากเราจำกัดตัวเองแคบออยู่ในวงการแฟชั่น ไม่ลองข้ามสายมาก็อาจมองไม่ออก

หลักการทำงานให้ประสบความสำเร็จ คุณเอกเผยว่า “ต้องขยันตั้งคำถาม มองสิ่งที่เราอยากทำแล้วตั้งคำถาม เช่น จะเกิดอะไรขึ้น มันน่าจะมีอะไรอีกหรือเปล่า จะทำขึ้นมาได้ไหม เราต้องคิดเหมือนนักวิทยาศาสตร์ อิทธิพลทางความคิดนี้ ได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัว แล้วบ่มเพาะให้เรากลายเป็นคนที่ไม่ได้มีมายด์เซทแบบอาร์ติส ที่อะไรก็ได้ เราค่อนข้างมีโลจิกส์มาก วันไหนหมดไฟก็หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากการท่องเที่ยว ชมพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก”.