เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารกระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขาฯ รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ร่วมกันแถลงประเด็นสำคัญของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินคดีพิเศษที่ 127/2566 กรณีขบวนการนำเข้านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวนกว่า 10,000 ตู้ หรือคดีเนื้อหมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อน และตีนไก่สวมสิทธิ หลังรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ ผู้ต้องหา 5 ราย คือ นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า และพวก ในฐานความผิด ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน

โดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน กล่าวว่า ปัจจุบันดีเอสไอทำคดีเกี่ยวกับเนื้อสัตว์เถื่อนทั้งหมด 3 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ดำเนินการกับตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง 161 ตู้, กลุ่มที่ 2 ดำเนินการกับตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง 2,388 ตู้ ที่ถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว และกลุ่มที่ 3 ดำเนินการกับตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุชิ้นส่วนสัตว์นานาชนิด กว่า 10,000 ตู้ โดยในคดีพิเศษแรก คือ คดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนได้แยกออกเป็น 10 เลขคดี เพราะเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระ โดยมี 1 เลขคดีจากใน 10 คดีนี้ ได้สรุปสำนวนนำส่ง ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว เพราะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2 หน่วยงาน เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนอีก 2 คดีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นเดียวกันนั้น อยู่ระหว่างนำเสนอ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ เพื่อสรุปสำนวนและนำส่งให้ ป.ป.ช. ต่อไป

ส่วนที่เหลืออีก 7 เลขคดี ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน จากนั้นคณะพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขยายผลต่อเนื่องจาก 10 บริษัทชิปปิ้งเอกชน จึงพบแผนประทุษกรรม ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงแยกออกเป็นอีก 2 คดีพิเศษ ได้แก่ คดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์สัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้นำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว จำนวน 2,388 ตู้ และคดีพิเศษที่ 127/2566 กรณีขบวนการนำเข้านำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวนกว่า 10,000 ตู้ หรือคดีเนื้อหมูเถื่อน เนื้อวัวเถื่อน และตีนไก่สวมสิทธิ

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์สัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และได้นำออกไปจำหน่ายตามท้องตลาดแล้ว จำนวน 2,388 ตู้ พบมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 15,600 กว่าล้านบาท เนื่องจากพบการโอนเงินของกลุ่มผู้ต้องสงสัยไปยังต่างประเทศ ไปยังบริษัทที่จำหน่ายสินค้าประมงแช่แข็ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่การนำเข้าราชอาณาจักรไทยจะต้องผ่านขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร และตรวจโรคระบาดจากปศุสัตว์อย่างถูกต้อง แต่เนื่องด้วยไม่มีการทำตามขั้นตอนต่าง ๆ และสำแดงเท็จ จึงผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอขอข้อมูลจากกรมศุลกากรและบริษัทสายเรือ เพราะใน 10 บริษัท ที่เราดำเนินการ ได้มีพฤติกรรมสำแดงเท็จเป็นอาหารแช่แข็ง (Frozen Food) แต่พอเปิดตู้คอนเทเนอร์ กลับพบว่าเป็นชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง ซึ่งดีเอสไอกำลังติดตามว่า ตู้คอนเทเนอร์เหล่านี้ถูกจัดส่งไปยังที่ใดบ้าง เราจะใช้มาตรการพิเศษในการติดตามหา

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวด้วยว่า ส่วนคดีพิเศษล่าสุด คือ คดีพิเศษที่ 127/2566 ความเสียหายกว่า 6,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในคดีตีนไก่สวมสิทธิขายส่งต่างประเทศ คณะพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับแล้ว 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า 2.นายกวินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือมิกซ์ 3.นายหยาง ยา ซุง 4.น.ส.นวพร เชาว์วัย และ 5.นายสมเกียรติ กอไพศาล หรือเฮียเกียรติ ซึ่งจับกุมได้แล้ว 3 ราย คือ นายหยาง ยา ซุง, น.ส.นวพร และนายสมเกียรติ โดยทั้ง 3 จะต้องนำส่งเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 30 วัน ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่ เฮียเก้าและนายมิกซ์ (บุตรชาย) ซึ่งยังอยู่ต่างประเทศ ตนได้รับการประสานขอเข้ามอบตัวแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ซึ่งในการดำเนินคดีที่ผ่านมาของดีเอสไอ นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็ยังมีข้าราชการฝ่ายการเมืองอีกด้วย และอยู่ในขั้นตอนที่เราต้องขยายผลสืบสวนต่อไป รวมถึงจะส่งประเด็นทางการเงินให้สำนักงาน ปปง. ตรวจสอบคู่ขนานไปด้วย

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า ภายหลังจากวานนี้ (16 ม.ค.) ที่เราได้มีการพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตัวแทนจากกรมปศุสัตว์นั้น จากนี้จะประสานขอข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 จนถึงปัจจุบัน ว่ามีตู้สินค้าที่เข้ามาในไทยเป็นสินค้าประเภทใดบ้าง และหากได้ข้อมูลแล้ว จะนำมาวิเคราะห์ว่าในช่วงดังกล่าว มีผู้ใดเข้ามาในกิจกรรมช่วงนั้น เราจึงจะเชิญหรือเรียกมาให้ถ้อยคำ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวนสอบสวน โดยเราจะรอเอกสารจากกรมปศุสัตว์ ทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนไก่หรือตีนไก่ เนื้อวัว และเนื้อปลา

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวด้วยว่า สำหรับบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่พบว่ามาเกี่ยวข้องกับบริษัทของเฮียเก้า เบื้องต้นพบ 10 แห่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่รับหน้าที่ส่งขายตีนไก่ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยเฉพาะ ส่วนบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่นำเข้าตีนไก่ พบว่ามีบางบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับหมูเถื่อน 161 ตู้ด้วย ซึ่งจะพบว่ากลุ่มที่ข้องเกี่ยวกับไก่จะเป็นการส่งออก ขณะที่กลุ่มที่ข้องเกี่ยวกับหมูเถื่อน จะเป็นการนำเข้า ทั้งนี้ ถ้าพบว่าเกี่ยวข้องกับใคร เราก็จะดำเนินการออกหมายเรียกพยานตามขั้นตอน

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวเสริมว่า คณะพนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้ นายสมเกียรติ กอไพศาล เข้ารายงานตัวในวันที่ 8 ก.พ. ส่วนสองสามีภรรยา นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร เชาว์วัย ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งระหว่างนี้ ทั้งหมดห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือไปข่มขู่พยาน แต่ถ้าจะเลื่อนวันก็สามารถแจ้งได้

ส่วนจะมีการเชิญตัว นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาให้ข้อมูลหรือไม่ หลังจากที่ได้แถลงข่าวชี้แจงว่าไม่มีความเกี่ยวข้องหรือรับผลประโยชน์จากการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อน รวมถึงความสัมพันธ์กับนายสมเกียรติ หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมแล้วนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ตามหลักการถ้าพบว่าบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์คดี ก็จะพิจารณาเรียกมาให้ข้อมูลตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ

ขณะที่นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.​​ยุติธรรม ยืนยันว่า การดำเนินการในคดีนี้ไม่ล่าช้า เพียงแต่มีความซับซ้อน ส่วนกรณีที่วานนี้นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น ก็เป็นการเข้ามาแสดงเจตนารมณ์ ที่พร้อมสนับสนุนข้อมูลให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น ซึ่งหากมีใครมาชี้แจงก็พร้อมรับฟัง แต่จะไม่ทำให้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนเปลี่ยนไป.