ช่วงที่ผ่านมา เหล่ามิจฉาชีพ “โจรไซเบอร์” ระบาดหนัก เข้ามาหลอกหลวงคนไทยให้เสียเงินเสียทองจนหมดตัว ไม่เว้นแต่ละวัน บางคนที่ถูกหลอกถึงขั้นเสียใจที่เงินเก็บมาทั้งชีวิตต้องหายไปจากบัญชี ถึงกับฆ่าตัวตายไปก็มี เป็นข่าวให้เห็นตามหน้าสื่อต่างๆ

ภาครัฐ ก็พยายามเร่งแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะการใช้งานซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือ ที่ได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญ ร่วมกับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นการโทรฯ หาเหยื่อ, การส่งข้อความ หรือ sms แนบลิงก์, โอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนอย่างเรามาก!!

ทาง สำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลผู้ให้บริการมือถือ จึงได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยได้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร

วันนี้ คอลัมน์ “ชีวิตติด TECH” จะพามาทำความเข้าใจกับประกาศฯ ฉบับนี้ ในโอกาสที่ “พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร” กสทช. ด้านกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ กับ รายการ DAILYNEWSTALK บนช่องยูทูบ ของ เดลินิวส์ออนไลน์

“พล.ต.อ.ณัฐธร” บอกว่า  กสทช. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาพอสมควร จนตกผลึกว่า จำเป็นต้องออกประกาศมาตรการยืนยันตัวตนฯ ที่มีผู้ถือครองซิมการ์ดจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป ให้มายืนยันตัวตน เพื่อจะได้ปรับปรุงข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันมีซิมการ์ดจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะระบบเติมเงิน ที่ไม่ได้ลงทะเบียนผู้ใช้งานที่แท้จริง หรือลงทะเบียนไม่ครบถ้วน เนื่องจากซิมการ์ดเป็นอุปกรณ์ที่มิจฉาชีพนำไปใช้ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์

สำหรับการลงทะเบียนจะแบ่งเป็น 1.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด ตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ให้ยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน หรือภายใน 13 ก.ค. 67 และ 2.ผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไป ให้ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน หรือ ภายใน 14 ก.พ. 67 หากไม่มียืนยันตัวตนในกำหนด จะระงับโทรฯ ออก และการใช้อินเทอร์เน็ต แต่ยังสามารถโทรฯ เบอร์ฉุกเฉิน เช่น 191 และเบอร์คอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการมือถือได้อยู่ หลังจากนั้น 30 วัน หากยังไม่มายืนยันตัวตน ก็จะถูกเพิกถอนหมายเลขนั้น ซึ่งหมายเลขที่เข้าข่ายต้องมาจดแจ้งนั้น ทางผู้ให้บริการมือถือจะมี SMS แจ้งเตือนไปยังหมายเลขนั้นๆ

ภาพ pixabay.com

โดยจะแจ้งไปยังกลุ่มผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 101 หมายเลขขึ้นไปก่อน เนื่องจากมีระยะเวลาเพียง 30 วัน ส่วนใครที่ถือครองซิมการ์ดไม่เกิน 5 หมายเลข ไม่ต้องดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ใช้งานตามปกติ ส่วนคนที่ลงทะเบียนซิมการ์ดอยู่แล้ว แต่ถือครองตั้งแต่ 6 หมายเลขขึ้นไป บางคนอาจใช้ซิมการ์ดในแท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ไอโอทีต่างๆ หากถือครองเกินก็ต้องมา ยืนยันตัวตนใหม่

“ผู้ประกอบการแต่ละราย ได้พัฒนาซอฟต์แวร์และระบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าของตน ทั้งการยืนยันทางออนไลน์ หรือแอปพลิเคชัน รวมถึงการแสดงตนที่ศูนย์บริการ โดยมาตรการนี้ไม่ต้องการให้กระทบคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนไทย 67.5 ล้านคน ถือครองซิมการ์ดไม่เกิน 5 หมายเลข ส่วนคนที่ถือ 6 หมายเลขขึ้นไป มีประมาณ 3.3 แสนราย ซึ่งคิดแล้วไม่ถึง 0.5% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด แต่มีการถือครองซิมมากถึง 10.8 ล้านซิมการ์ด โดย 50% ถือครองโดยชาวต่างชาติ ทั้ง แรงงานต่างชาติ และนักท่องเที่ยว”

ภาพ pixabay.com

“พล.ต.อ.ณัฐธร” บอกต่อว่า คนต่างชาติเหล่านี้ บางส่วนก็กลับประเทศไปแล้ว ซิมการ์ดเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมือ จนไม่รู้ว่าใครคือผู้ใช้ที่แท้จริง และบางส่วนถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ จึงต้องมีการปรับข้อมูลให้ถูกต้อง ทันสมัย หากมายืนยันตัวตามกำหนด ก็จะใช้งานได้ต่อไป หากไม่มาก็ถูกระงับ ซึ่งจุดประสงค์ก็คือต้องการกำจัดซิมการ์ด ที่อยู่ในมือมิจฉาชีพ ที่ใช้โทรฯ ไปหาเหยื่อคนไทย และหากมีการนำซิมการ์ดไปกระทำความผิด ทางตำรวจจะได้สืบจับตัวมาดำเนินคดี และขยายผลไปยังเครือข่ายได้ ซึ่งซิมการ์ดที่นำไปใช้ทำความผิด จดทะเบียนเป็นชื่อใคร คนๆ นั้นก็ต้องรับผิดชอบ!!

“คนที่มายืนยันตัวตน คือ คนที่ต้องการใช้งานต่อ มีความบริสุทธิ์ใจ ส่วนคนร้ายที่ต้องการนำซิมไปใช้ก่อเหตุ เชื่อว่าคงไม่มา เมื่อครบกำหนดผู้ประกอบการจะเก็บซิมการ์ดหรือหมายเลขไว้ 45 วัน จากนั้นจะนำส่งคืน กสทช. ต่อไป ซึ่งเชื่อมั่นว่าซิมผีเหล่านี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน” พล.ต.อ.ณัฐธร ระบุ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เราไม่มั่นใจว่าตนเองถือครองซิมจำนวนเท่าใด หรือมีใครแอบเอาบัตรประชาชนของเราไปลงทะเบียนซิมหรือไม่นั้น ทาง “พล.ต.อ.ณัฐธร” แนะนำว่า ทาง สำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาแอป “3 ชั้น” ขึ้นมา สามารถใช้ตรวจสอบว่า เลขบัตรประชาชนของเราลงทะเบียนซิมไว้กี่หมายเลข และหากพบหมายเลขแปลกปลอมที่ไม่ได้ใช้ ก็สามารถแจ้งผ่านแอปได้ทันที รวมถึงสามารถล็อกเลขบัตรประชาชน ไม่ให้มิจฉาชีพนำไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือใหม่ได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปผ่าน แอป สโตร์ และ กูเกิล เพลย์ สโตร์ ได้

ภาพ pixabay.com

พล.ต.อ.ณัฐธร ยังบอกถึงแผนงานที่ กสทช. จะดำเนินการเพื่อให้การแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปี 67 นี้ คือ จะมีการออกมาตรการปรับพารามิเตอร์เกี่ยวกับเสาสัญญาณตามแนวชายแดน ซึ่งจากที่ลงพื้นที่ตรวจตามแนวชายแดน พบเสาสัญญาณของผู้ประกอบการตั้งชิดแดนชายแดนเกินไป หรือหันตัวส่งสัญญาณไปทางประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้สัญญาณข้ามแดนไป รวมถึงมีการตั้งสถานีสัญญาณเถื่อน จนแก๊งคอลเซ็นเตอร์อาศัยสัญญาณโทรฯ กลับมาหลอกลวงคนไทย โดยประกาศใหม่ที่ออกมา จะมีการกำหนดแนวถอยร่นว่า หากจะตั้งเสาสัญญาณใหม่ ต้องไม่ชิดชายแดนเป็นระยะทางเท่าไร เสาส่งสัญญาณควรหันไปทางไหน เป็นต้น

การดำเนินการทั้งหมด ก็ต้องการตัดตอนโจรไซเบอร์ เพื่อให้คนไทยรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อให้ได้มากที่สุด!!

Cyber Daily