ก้าวเข้าสู่ปี 2024  อย่างสดใส หลังตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2023 โดยดัชนีหุ้น S&P 500 ปิดบวกกว่า 14% ภายในเวลาเพียง 3 เดือน นับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ตัดสินใจเดินหน้าคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมไปถึงความกังวลกับสถานการณ์ดอกเบี้ยสูงยาวนาน (Higher for Longer) ซึ่งนโยบายการเงินที่ยังตึงตัวส่งผลทำให้ตลาดมีความผันผวนสลับกับฟื้นตัวเป็นระยะตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม 2023

เข้าสู่ไตรมาสที่ 4 สถานการณ์การลงทุนผ่อนคลายมากขึ้น นักลงทุนคาดหวังว่าตลาดหุ้นปีนี้จะต้องดีกว่าปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์การกลับทิศนโยบายการเงินและจากรายงาน Dot-plot ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2023 พบว่ามีโอกาสที่จะมีการลดดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในช่วงปี 2024 – 2026 โดยที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงแข็งแกร่ง ทั้งตลาดแรงงาน และ ตัวเลขเงินเฟ้อระยะยาวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดมองว่าการลดดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2024 นั้น น่าจะเป็นการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเนื่องมาจากเงินเฟ้อที่ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นไปตามเป้าหมายระยะยาวของ FED มากกว่าที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีแล้วด้วย ก็น่าจะทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน การแข่งขันด้านปัญญาประดิษฐ์เชิงกำหนด หรือ Generative Artificial Intelligence (A.I.) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความ รูปภาพ และสื่ออื่นๆ กำลังเป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และทำให้ Supply Chain ที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างรายได้และคาดการณ์กำไรที่เติบโตที่แข็งแกร่ง ทั้งหุ้นในกลุ่ม Semiconductor หรือหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Microsoft หรือ Alphabet ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ นำไปสู่การซื้อขายในมูลค่าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกมากมาย แต่ปัจจัยเสี่ยงก็ยังคงเกิดขึ้น และมีมาให้เห็นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทั้ง Hot-Cold War ที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีและช่องแคบไต้หวัน ความเสี่ยงจากการแข่งขันทางเทคโนโลยีและการกีดกันการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจ รวมทั้งความเสี่ยงที่จากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อาจฟื้นตัวน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดหวัง ปีนี้นักลงทุนจึงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจับตาการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการปรับกลยุทธ์การลงทุนให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อ้างอิงข้อมูลผลตอบแทนหุ้นสหรัฐฯ 100 ปีที่ผ่านมาในแต่ละทศวรรษ ยุคที่ให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีดีกว่าค่าเฉลี่ย (ผลตอบแทนคาดหวัง S&P 500 ในระยะยาวอยู่ที่ 8-10%) คือ ทศวรรษที่ตลาดปรับฐานรอบใหญ่ไปแล้วหรือหลังยุคสงคราม เช่น ยุค 50s และยุค 80s ส่วนอีกกรณี คือ ยุคที่เศรษฐกิจมี Productivity ที่ดีขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตหรือการพัฒนาเทคโนโลยีครั้งใหญ่ เช่น ยุค 20s และยุค 90s ซึ่งคาดว่าผลตอบแทนในยุคปัจจุบันช่วงหลัง Covid ตั้งแต่ปี 2020-2030 จะเห็นการต่อยอดเทคโนโลยีใหม่บนฐานเทคโนโลยีเดิม โดยที่วิวัฒนาการของนวัตกรรมต่างๆจะเติบโตในอัตราเร่ง และจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงธุรกิจที่มีการปรับปรุงระบบงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ก็จะมีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

หากนักลงทุนพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลัง 15 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าทุกสินทรัพย์ลงทุนโดยเฉพาะหุ้น Magnificent-7 (ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนผลตอบแทนดัชนี Nasdaq และ S&P 500 ประกอบไปด้วย Microsoft, Amazon, Nvidia, Meta, Alphabet, Apple และ Tesla) ปรับตัวขึ้นมาสูงมาก โดยสามารถทำผลตอบแทนทบต้นต่อปีที่ระดับ 15-22% ซึ่งมากกว่าอัตราผลตอบแทนคาดหวังในระยะยาว (50 ปี) ของการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ควรจะอยู่ที่ 8-10% ทบต้นต่อปี เนื่องจาก 15 ปีที่ผ่านมา มี 3 ปัจจัยพิเศษที่ทำให้ผลตอบแทนในหุ้นสูงกว่าปกติ ได้แก่ 1.) อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ (Lower Rates) 2.) การอัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมากตลอด 15 ปี ผ่านการทำ QE1, QE2, QE3 และ QE4 (Easy Money/Excessive Liquidity) และ 3.) การใช้นโยบายลดภาษีธุรกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2017 (Higher Net Margin) ทำให้ฐาน P/E ของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่างเช่น S&P 500 ถูกซื้อขายกันที่ P/E Multiple 22x (as of 11 Jan 2024) ซึ่งทำให้การที่หุ้นจะขึ้นได้หลังจากนี้ต้องอาศัยการเติบโตของกำไร (Earning Growth) มากกว่าการอาศัยปัจจัยจาก Policy Rate และ Multiple Expansion (หุ้นแพงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่นักลงทุนยอมซื้อที่ Valuation สูงขึ้น) แบบเช่นที่เป็นมาตลอด 10 ปี

ยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด

ทำให้เรามองว่าในช่วงปี 2024 ยังมีความเสี่ยงของการที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมถึงความเสี่ยงเฉพาะตัวซึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา อาจจะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเมื่อตลาดรับรู้ปัจจัยลบ เช่น ความเสี่ยงจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีน หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็มีโอกาสเป็นจุดหักเหให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ พลิกเข้าสู่ Recession ได้ ซึ่งทำให้สินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจมหภาคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เพื่อแก้ปัญหาตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนทั้งในตลาดและนอกตลาด โดยคาดหมายว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่สุดในยุคที่การปล่อยกู้ยากมากขึ้นรวมถึงดอกเบี้ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยสิบกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นมองเห็นความน่าสนใจในหุ้นสหรัฐขนาดกลางเล็กที่ระดับราคาต่อมูลค่าไม่สูง (P/BV) รวมถึงหุ้นญี่ปุ่นและอินเดีย มองว่านักลงทุนต้องมองการลงทุนให้กว้างกว่าการเลือกซื้อหุ้นหรือตราสารหนี้รายตัว โดยอาจพิจารณาตราสารทรัพย์ซ้อนที่อิงผลตอบแทนกับหุ้นคุณภาพดี รวมถึงสินทรัพย์นอกตลาดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ (Ultra-High Net Worth Investor)

เขียนโดย : ยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด