เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงงานเทศกาลงานอออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ภายหลังร่วมเสวนาพิเศษ “บางกอกบิ๊ก” ถกอนาคตอุตสาหกรรมย่านบางกอกใหญ่ สู่การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ว่า กทม.มีนโยบายเทศกาลตลอดทั้งปี โดยกิจกรรมที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปคือ Colorful Bangkok และตอนนี้เข้าสู่เทศกาลในเดือนก.พ. ก็คือเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ โดยปีที่ผ่านมาเรามี 9 ย่าน ปีนี้ขยายเป็น 15 ย่าน หัวใจสำคัญของงานไม่ใช่งาน Design แต่คือคน หากดูตามแนวคิดของงานคือ คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี เราอยากมีคนมาร่วมกันทำมากขึ้น

อย่างปีนี้ที่ย่านบางกอกใหญ่ ถือเป็นครั้งแรกที่เข้ามาร่วมกันกับ Bangkok Design Week โดยมีคอนเซปต์ อรุณ!สวัสดิ์ สำหรับประเด็นสำคัญอีกหนึ่งอย่างของ Bangkok Design Week ไม่ใช่มาออกแบบกันแค่ 9 วัน แต่อยากจะรับฟังฟีดแบ็กของทุกคนนำมาเป็นข้อมูลเพื่อการต่อยอด ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. เคยระบุว่าต้องต่อยอดอย่าให้จบแค่ 9 วัน งานออกแบบใดที่สามารถต่อยอดได้ขอให้ต่อยอดต่อไป

สำหรับย่านบางกอกใหญ่–วังเดิม เป็นหนึ่งในย่านสร้างสรรค์ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567 โดยจะหยิบวัฒนธรรมเดิมมาเพิ่มเติมความหมายใหม่ บอกเล่าวิถีชีวิตริมคลองบางกอกใหญ่ จากอรุณรุ่งถึงช่วงอรุณลับ ท่ามกลางการเติบโตขึ้นของหลากหลายซอฟต์พาวเวอร์ภายในย่าน ทั้งไอศกรีมลายกระเบื้อง พระปรางค์ หรือธุรกิจร้านเช่าชุดไทยที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

อัตลักษณ์ของย่าน ‘บางกอกใหญ่-วังเดิม’ นอกเหนือไปจากการเป็นที่ตั้งของวัดอรุณราชวรารามฯ อันเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยถูกต่อยอดไปเป็นงานออกแบบในเทศกาล Bangkok Design Week ผ่าน 5 กิจกรรม 5 นิทรรศการ บนสถานที่จัดงานหลัก ได้แก่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร บ้านอุปอินทร์ (House of Upa-in) MRT สถานีอิสรภาพ

ขณะที่ในพื้นที่เขตสาทร หรือที่เรียกกันว่า “ย่านสาทร” นั้นก็ได้เปิดเวทีเสวนาแบ่งปันมุมมองจากผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ทำร้านอาหาร คาเฟ่ เครื่องดื่ม ทั้งมุมมองคนไทยและต่างประเทศถึงจุดแข็งของย่าน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเวทีนี้ มีคุณพิชชาพร อรุณรัตน์ ผอ.ฝ่ายสร้างสรรค์ Creative Director และผู้ก่อตั้ง Universal Admedia ดำเนินรายการเสวนาหัวข้อ “Sathorn BKK: More Than A Business District“ บทบาทสำคัญของย่านสาทรในการกำหนดโครงสร้างย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเติบโตของกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

จากการแลกเปลี่ยนของผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนและค้าขายในย่านสาทร โดยใช้ Design Thinking เพื่อขับเคลื่อนไอเดีย เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของการมีอยู่ของย่านกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการมีอยู่ของสถานที่สำคัญๆ เช่น สถานทูต องค์กรธุรกิจ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่สำคัญหากเป็นร้านอาหาร ต้องมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย มุ่งเน้นดูแลสุขภาพผู้บริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน สอดคล้องกับที่กรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 9 เมืองน่าอยู่ที่สุดในโลกด้วย

สำหรับ ย่านสาทร มีวิวัฒนาการการเติบโตเปลี่ยนจากย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ไปสู่ความเป็น Community ที่มีเอกลักษณ์มาก สามารถดึงดูดผู้ประกอบการชั้นนำในหลายสาขา เช่น อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ คอนโดฯและพื้นที่พักอาศัย ที่ทำให้ย่านสาทรน่าอยู่และเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ งานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 : Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฯ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร, หน่วยงานภาครัฐและเอกชน, สถาบันการศึกษา, องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 15 ย่านทั่วกรุงเทพฯ มีกิจกรรมกว่า 500 โปรแกรม คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300,000 คน.