เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข เข้าร่วม ว่า รัฐบาลและคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติให้ความสำคัญในประเด็นการดูแลสุขภาพจิตประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยนโยบายสำคัญ ได้แก่ 1.ปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่นและผู้ที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ โดยส่งเสริมเจตคติที่ดี การเคารพสิทธิ ส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพิ่มมาตรการป้องกัน ลดสถานที่เสี่ยง บังคับใช้กฎหมาย เน้นการช่วยเหลือมากกว่าลงโทษ และมีมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้มีความประพฤติรุนแรง 2.การจัดการผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน 3.ปัญหาการข่มขืน กระทำชำเรา การค้นหา เฝ้าระวังเชิงรุก นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา เพิ่มช่องทางเข้าถึงบริการ มาตรการดูแลอย่างต่อเนื่อง และส่งกลับชุมชน และ 4.ปัญหาผู้ติดยาเสพติดและจิตเวช นอกจากจะป้องกันปราบปรามตามมาตรการกฎหมาย บูรณาการในการบำบัด รักษา ฟื้นฟู ติดตามหลังจากกลับสู่ชุมชน ลดการเสพซ้ำ เพื่อป้องกันการก่อความรุนแรง รวมถึงตั้งกรรมการเพิ่มในส่วนของกรุงเทพฯ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตตอนต้น เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งทุกวันนี้ยาเสพติดกำลังเติบโต ทำให้เงินกองทุนป.ป.ส. ก็เติบโต ขณะที่กรมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานที่ต้องเข้าไปรองรับการบำบัด ฟื้นฟู ซึ่งต้องใช้งบประมาณมาก แต่ยังมีจุดด้อยในร่างกฎหมายที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่มีกองทุนสำหรับดูแล ดังนั้นครั้งนี้จึงมีการปรับปรุง เพิ่มการตั้งกองทุนเข้าไปด้วย ซึ่งคิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะตอนนี้รัฐบาลมีการกฎหมายไม่มาก แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบฯ แต่เรารู้ว่า ถ้าไม่มีเงิน งานก็ทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราเห็นอยู่ว่ามีอันตรายที่เข้าสู่เด็กและเยาวชน มีเคสที่ทำร้ายกันเสียชีวิตเยอะ และมีผู้ป่วยจิตเวลาเข้ามาปะปน ซึ่งทราบจากการดำเนินงานควบคุมและป้องกันความรุนแรง และการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง ปี 2566 มีจำนวนผู้ก่อความรุนแรงรายสะสม 42,629 คน ในจำนวนนี้เป็นรายใหม่ 15,000 คน จึงมีการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง อย่างใกล้ชิด

ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเสี่ยงก่อความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ปัญหาการฆ่าตัวตาย ต้องอาศัยการดำเนินงานแบบบูรณาการจากหลากหลายหน่วยงาน แต่ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย จึงมีการทบทวน พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และอนุบัญญัติฯ ที่เกี่ยวข้อง เพราะนายกฯ เองก็เร่งมา เพราะปัจจุบันกฎหมายออกได้น้อย ได้แก่ ด้านงบประมาณ จะมีการเพิ่มหมวดการจัดตั้งกองทุนสุขภาพจิตและจิตเวช  การเพิ่มพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ และทบทวนบทบัญญัติ ที่สามารถออกอนุบัญญัติฯ ในการดำเนินงานการสร้างเสริมสุขภาพจิต เช่น การที่พ่อแม่ต้องศึกษาการเลี้ยงดูลูก การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต ไปจนถึงการดูแลเฝ้าระวังป้องกันในโรงเรียน และการควบคุมกำกับสื่อที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิต เช่น สื่อเผยแพร่ความรุนแรงต่างๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสุขภาพจิตนำไปพิจารณาเพื่อดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า สำหรับกองทุนสุขภาพจิตนั้น ท่านรองนายกฯ ในฐานะที่ท่านเคยเป็น รมว.ยุติธรรม ก็จะทราบว่ามีเงินจากการยึดทรัพย์ในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงมีการพูดคุยกันว่าที่มาของเงินกองทุนอาจจะมาจากส่วนนี้ ซึ่งอาจจะคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการค้ายาเสพติด เพราะยาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิต แต่เรื่องนี้ต้องไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ป.ป.ส. ด้วย

ขณะที่ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผอ.กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิตได้รับงบประมาณดูแลผู้ป่วยจิตเวช เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 50 บาท ในขณะที่ค่าเฉลี่ยสากลทั่วโลกอยู่ที่ 250 บาท หรือถ้าเทียบกับประเทศที่ใกล้เคียงกับไทยก็อยู่ที่ประมาณ 150 บาท ดังนั้น ประเทศไทยได้รับงบน้อยกว่ากันถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นงบที่ใช้ดูแลงานด้านสุขภาพจิตทั้งหมด ทั้งนี้ การดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต จำเป็นต้องใช้เวลาดูแลในระยะยาว จึงจำเป็นต้องใช้งบฯ ในการดูแลมาก.