เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ

เมื่อสองวันก่อน ผมได้แสดงความเห็นว่า หากได้รับการพักการลงโทษ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางกลับบ้านได้ทันทีนั้น ผมขออธิบายถึงเหตุผล ดังนี้ครับ

(1) การพักการลงโทษ เป็นมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุม ขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แต่ผู้ที่ได้รับการลงโทษยังมีฐานะเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในระหว่างการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ตามหมายจำคุกเดิม

(2) การพักการลงโทษ มิได้เป็นการปล่อยตัวโดยเด็ดขาดเพราะหมายจำคุกเดิมยังมีผลบังคับ ผู้ได้รับการพักการลงโทษยังถือว่าอยู่ในระหว่างถูกจำคุกตามหมายจำคุกของศาล จึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษกำหนดให้โดยเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนการพักการลงโทษและจะถูกนำกลับเข้าจำคุกต่อไปจนครบกำหนดโทษโดยไม่ต้องมีหมายจำคุกอีก ตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560

(3) จากข้อกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะได้รับการพักการลงโทษ อดีตนายกฯ ยังมีฐานะเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ถูกคุมขังโดยกรมราชทัณฑ์ แต่เป็นการคุมขังด้วยวิธีอื่นตามมาตรการบังคับโทษตามหมายจำคุกเดิมที่ยังไม่ครบกำหนดโทษ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะนำอดีตนายกฯ ไปควบคุมซ้ำอีก ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 และ 157

ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า การพักการลงโทษมิได้เป็นการปล่อยตัวโดยเด็ดขาด ผู้ได้รับการพักโทษยังอยู่ในระหว่างถูกบังคับโทษตามหมายจำคุกของศาล จึงไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำนักโทษเด็ดขาดที่ยังถูกควบคุมโดยกรมราชทัณฑ์ไปควบคุมซ้ำอีก ส่วนอัยการสูงสุดหากจะมีความเห็นสั่งฟ้องอดีตนายกฯ ในระหว่างพักการลงโทษ ก็ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาโดยไม่ต้องนำตัวไปศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 (2)