แต่สำหรับนโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาล ภายใต้การนำของ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จากพรรคเพื่อไทย ที่เป็นหัวใจหลัก ก็ส่ออาการติดหล่ม ไม่สามารถใช้ได้ทันเดือน พ.ค. นี้ สำหรับโครงการโคตรประชานิยม “ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” วงเงิน 5 แสนล้านบาท และก็มีความชัดเจนทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ก็ออกมา ในช่วงเวลาที่ผ่านมา “รัฐบาล” ระบุว่าต้องรับฟังความเห็นให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความรอบคอบให้มากที่สุด โดยมีเสียงทักท้วงจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้ความเห็นว่า “ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เศรษฐกิจยังเติบโตได้ คือ ไม่ห้ามแจกเงินแต่ต้องไม่หว่านแห เพราะผลที่กลับมาน้อยกว่าเม็ดเงินที่หว่านไป” 

คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ให้คำตอบรัฐบาลกลับมาคือ “ให้เป็นไปตามอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมี “หมายเหตุ” แนบท้ายว่า จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ภายใต้กรอบกฎหมาย ความคุ้มค่า และต้องฟังความเห็นรอบด้าน” และล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้ตั้งอนุกรรมการฯ พิจารณาศึกษาได้แถลงเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 มี 4 คำเตือน และ 8 ข้อเสนอแนะ ส่งถึงมือรัฐบาล โดย 4 ความเสี่ยงประกอบด้วย 1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต 2.ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ 3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย 4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 8 ข้อ 

ในขณะที่วันที่ 11 ก.พ. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เสนอผลสำรวจเรื่อง “จำนวนคนไทย ในวิกฤติการเงิน” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,146 ราย ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7-10 ก.พ. 67 พบว่าจากการประมาณการทางสถิติกลุ่มประชากรคนไทยอายุ 16-85 ปี มีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 53,417,480 คน ที่ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤติ พบว่า ประมาณครึ่งต่อครึ่ง หรือร้อยละ 50/50 ที่บอกว่าเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤติ กล่าวคือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน คือ จำนวน 26,975,827 คน หรือ ร้อยละ 50.5 ระบุ การเงินในกระเป๋าของตนเองอยู่ในขั้นวิกฤติ ในขณะที่ อีกร้อยละ 49.5 ระบุไม่อยู่ในขั้นวิกฤติ

ในวันที่ 15 ก.พ. นี้  “เสี่ยนิด” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังจากได้รับรายงานการศึกษาฯ จาก ป.ป.ช. แล้ว พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันต้องฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนอีกรอบหนึ่ง โดยจะตั้ง คณะอนุกรรมการ ขึ้นมาพิจารณา ดำเนินการป้องกันเรื่องปัญหาการทุจริตโดยเฉพาะ

แม้รัฐบาลจะมี 314 เสียง แต่ท่าทีของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ยังคงเงียบกริบต่อนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ไม่มีเสียงสนับสนุนหรือคัดค้าน ประคองตัวอยู่นิ่งๆ เพราะหากนโยบายนี้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยก็ตีกินอยู่พรรคเดียว และต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ทางการเมืองว่า ในอดีต  ป.ป.ช. ที่เคยออกโรงเตือนโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลเพื่อไทยมาแล้ว จนต้องติดคุกกันระนาว ดังนั้นก็ต้องจับตาว่า “นายกฯ” จะเดินหน้า “ลุยไฟ” หรือตั้งคณะอนุกรรมการฯ “ซื้อเวลา” ไปเรื่อย ๆ.