เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทาง มายังศาลอาญา ในคดีที่มีการยื่นคำร้องฝากขัง นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์ นักข่าวและช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 โดนตำรวจจาก สน.พระราชวัง ในคดีตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน

โดย น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า หมายจับออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 66 เป็นการออกหมายจับหลังจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 66 จากกรณีที่มีนักกิจกรรมได้พ่นสีข้อความเชิงสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระแก้ว ซึ่งคดีมีการฟ้องแล้วอยู่ระหว่างสืบพยานในศาล แต่กลับมีการออกหมายจับนักข่าว 2 คน จากสำนักข่าวประชาไท และสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ทั้งที่เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี โดยข้อหาที่โดนแจ้ง เป็นผู้สนับสนุนทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท ซึ่งในการลงโทษฐานสนับสนุนจะไม่สูงเท่าตัวการ โดยผู้สนับสนุนจะมีโทษ 3 ใน 4 ของโทษเต็มซึ่งถือว่ายังเป็นโทษที่สูง

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ โดยให้การว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและช่างภาพเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อที่จะนำพิจารณาในชั้นสอบสวนไปถึงพนักงานอัยการต่อไป เมื่อวานนี้ทางทนายความได้ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ซึ่งมองว่าจากข้อหาความผิดในคดีและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยการออกหมายจับไม่ใช่ออกเพราะจะหลบหนี แต่เป็นการออกหมายจับเพราะฐานความผิดโทษเกิน 3 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ แต่กลับไม่ให้ประกันและนำตัวมายื่นฝากขัง ซึ่งการฝากขังควรต้องมีเหตุจึงฝากขังได้ แต่คดีนี้ผ่านมา 1 ปี การสืบสวนสอบสวนควรต้องแล้วเสร็จไปแล้ว ก็เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะมีการยื่นคัดค้านการฝากขัง ซึ่งแม้อาจจะใช้ระยะเวลานานบ้างในวันนี้ แต่ผู้ต้องหาประสงค์ให้ยื่น เพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีฝากขังจากการทำหน้าที่นักข่าวในครั้งนี้ แต่ทางทนายก็จะถามความยินยอมว่าจะขอให้ทนายคัดค้านการฝากขังหรือยื่นประกันตัวเลย

เมื่อถามถึงเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวว่า พนักงานสอบสวนระบุว่ามีหมายจับและคดีมีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี จึงให้เป็นอำนาจศาลพิจารณา ซึ่งการดำเนินคดีครั้งนี้ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนกลับมองว่า ผู้สื่อข่าวไปทำข่าวเป็นผู้สนับสนุน สื่อมวลชนเองควรต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนด้วย และคดีนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวังสถาน ที่คุมตัวควรเป็นที่นั่น เพราะมันเกี่นวกับสิทธิผู้ต้องหา เช่น ญาติทราบก็สามารถติดตามได้ แต่นี่ถูกแยกออกไปเป็น 2 สน. คือ สน.ฉลองกรุง อีกที่ ก็ไม่ทราบว่าใช่อำนาจอะไรในการแยกการคุมตัว ทั้งที่ สน.ฉลองกรุง ไม่มีอำนาจสอบสวนด้วย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ตนคิดว่า วงการวิชาชีพสื่อควรตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าว เพราะในปัจจุบันมีทั้งผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดและผู้สื่อข่าวอิสระ ว่าการยืนยันพฤติการณ์การทำข่าวจะเป็นอย่างไรต่อไป มันจะกลายเป็นภาระของตัวบุคคลนั้นในการต่อสู้คดีอาญา

นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมจะต้องรับผิดชอบเต็มที่ จริงอยู่ที่มีหมายจับ แต่หมายจับออกจากครบหนึ่งปีแล้ว จนคดีที่นักกิจกรรมไปพ่นสีจะมีการสืบพยาน คดีฐานความผิดก็ไม่ได้รุนแรง ใช้เวลาสืบกว่า 6-7 เดือน แล้วค่อยออกหมายจับแล้วก็ไม่ไปจับ เรื่องนี้สื่อมวลชนควรเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะตำรวจก็อยู่ภายใต้รัฐบาลว่าทำไมทำแบบนี้ ยังจำกันได้หรือไม่ว่า อนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ มันหายไป 7-8 ปีแล้ว แต่ตำรวจยังไม่ไปตามจับสักที ทั้งที่หลักฐานข้อมูลก็มีจำนวนมาก ถ้ายังทำแบบนี้ คุณก็จะเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน

“….คดีนี้โทษเจ็ดปีก็จริง แต่ไม่มีอัตตราโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษแค่ปรับก็ได้ และนักข่าวไม่ใช่โจรผู้ร้าย ทีโจรผู้ร้ายกลับให้ประกัน คดีฆ่ากันที่ชลบุรี ตนไม่ได้ว่าเขาผิด แต่ให้ประกันตัวไป 8 แสนบาท แต่ทำไมนักข่าวกลับไม่ให้เขาประกันตัว เป็นคำถามที่ตนอยากให้ผู้สื่อข่าวทุกคนรักษาสิทธิของตัวเอง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าสิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว เพราะหากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพ จมอยู่ในความหวาดกลัว ประชาชนก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องหยามเกียรติสื่อมวลชนไทย…” นายกฤษฎางค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เดินทางมาศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจด้วย