เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ทบทวนระเบียบแผน และมาตรการ การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จให้เหมาะสม ทันสมัย มีการฝึกซ้อม และประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชนเป็นการถวายความปลอดภัยให้สมกับเกียรติยศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักชาติ เสนอโดยนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า เราต้องยอมรับก่อนว่า การดูแลความปลอดภัย และการอารักขาบุคคลสำคัญ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นระหว่างสัญจรได้ รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการในการอารักขา และกระบวนการถวายอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการปกติ ดังนั้นการรบกวนกระบวนการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติคงจะต้องยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอคือการพยายามทำให้กระบวนการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าคนที่ต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ เขาก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ โดยที่ไม่อาจจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าขบวนเสด็จอยู่ข้างหน้า คุณปิดปากประชาชนไม่ให้พูดไม่ได้ คุณจะบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกไม่ได้

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีสุด คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอารักขาทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในมาตรา 5 โดยสภาแห่งนี้ควรจะเพิ่มเติมให้การปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยคำนึงถึงประชาชนไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบที่มากเกินควรและมีการเตรียมแผนในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในกรณีที่จำเป็นจึงจะทำให้การถวายความปลอดภัยและการอารักขามีประสิทธิภาพสอดรับกับยุคสมัยไม่ส่งผลกับสถาบันฯ  

นายวิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อมีการรบกวนมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ  เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ไม่มีความเกลียดชังใดๆ และยังเคารพในวิจารณญาณของผู้กระทำ ซึ่งอาจจะฟังบางส่วนหรือไม่ฟังเลย ตนก็น้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาเช่นกัน คิดว่าคนที่ปรารถนาดีต่อกันต้องกล้าพูดในสิ่งที่มีเหตุมีผล แม้สิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม แต่การสะท้อนให้อีกฝ่ายได้รับรู้ได้ไตร่ตรองต่างหากคือความปรารถนาดีที่แท้จริง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างจงรักภักดีซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันฯ ที่สุด หากรัฐปล่อยให้กลุ่มคนที่นิยมความรุนแรงเหล่านี้ลอยนวลมีอำนาจบาตรใหญ่อ้างสถาบันฯ ไปทำร้ายคนอย่างไรก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันฯ เสื่อมเกียรติยศ ทำลายภาพลักษณ์คนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันสถิตอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและส่งผลในทางลบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและสถาบันฯ  

นายวิโรจน์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันฯ ไม่ใช่แค่สภา แต่ต้องเป็นเวทีสาธารณะด้วย เพื่อให้พูดถึงด้วยเจตนาสุจริตอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่มีการจับผิด หรือใช้กฎหมายกลั่นแกล้งรังแกกัน หากไม่มีพื้นที่ปลอดภัย และใช้ความรุนแรง ยิ่งแช่งชักหักกระดูก สร้างความเกลียดชัง ผลักคนเห็นต่างเป็นศัตรู ป้ายสีให้เขาเป็นภัยความมั่นคง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่พวกเราไม่สบายใจก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เราใช้น้ำมันดับไฟไม่ได้ ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขความรุนแรงได้ มีแต่จะทำให้บานปลาย ทุกความขัดแย้งในโลกนี้ล้วนแก้ไขด้วยการพูดคุย ก็จะเข้าใจกันและที่สุดก็จะเกิดทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วยสันติ  ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในหลายวงสนทนาเวลาที่เอ่ยถึงสถาบันฯ แม้จะเอ่ยด้วยความสุจริตก็ตามก็จะมีบางคนในวงสนทนามีอากัปกริยาแบบนี้ (พร้อมทำปากมีเสียงออกจุ๊ๆ) สะท้อนว่าการพูดถึงสถาบันฯ กลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปแล้ว หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ยิ่งทำให้สถาบันฯ ห่างเหินจากประชาชนออกไป  บั่นทอนแรงยึดเหนี่ยวจิตใจของสถาบันฯ มีต่อประชาชนอย่างที่เคยเป็นมา

“เลิกได้แล้วกับคำกล่าวหาเลื่อนลอยว่ามีคนนั้นคนนี้อยู่เบื้องหลัง คำกล่าวหาลักษณะนี้เป็นการดูถูกประชาชนอย่างสิ้นเชิง ทำไมไม่ตั้งคำถามกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงบ้าง ทำคนมากี่คน กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างนี้ต่างหากที่มีผู้สงสัยว่าผู้มีอำนาจที่คอยให้ท้ายให้คนเหล่านี้กระทำความรุนแรงโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ผมเชื่อว่าหลายคนที่ฟังผมอยู่ทางบ้าน บางคนไม่สบายใจและด่าทออยู่ในใจ ผมน้อมรับ แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลาง และคิดตามในสิ่งที่ผมจะพยายามสื่อสารก็จะทราบดีว่าผมมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันฯ  และประสงค์ที่จะทำให้สถาบันฯ ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชนตราบนิรันดร์” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ ยังกล่าวอีกว่า  ส่วนคนที่มีพฤติกรรมกล้านำสถาบันฯ มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายคนตามใจชอบ ถ้าเชื่อว่า พฤติกรรมของคนเหล่านี้เป็นคนดี ลองจินตนาการดูถ้าคนดีเพิ่มขึ้นแบบนี้เป็นล้านๆ คนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันฯ จากเดิมสถาบันฯเป็นศูนย์รวมของจิตใจของคนในชาติต้องถูกนำไปโยนใจกลางความขัดแย้งของประชาชนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แล้วสถาบันฯ จะยั่งยืนสถาพรได้อย่างไร การบังคับใช้กฎหมายฟังไว้ตรงนี้ ต้องมีความเสมอภาคไม่ใช่เอากฎหมายไปเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่งจัดหนักจัดเต็ม แต่อีกฝ่ายรออยู่เหนือกฎหมาย การใช้กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ประชาชนรู้สึกอย่างไร นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างให้เกิดขึ้นคือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่สถาบันแห่งนี้แต่รวมถึงเวทีสาธารณะทั่วไป.