เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผอ.สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 พล.ต.ต.นิคม ชัยเจริญ ผบก.สอท.2 ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติการตามยุทธการแองเจิลอาย จับกุมคดีอาชญากรรมทางออนไลน์ 3 คดี

คดีแรก พ.ต.อ.ฐาปกรณ์ หนุมาศ ผกก.3 บก.สอท.5 พ.ต.ท.ปฐมพงศ์ มีอยู่ รอง ผกก.3 บก.สอท.5 นำหมายค้นของศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ 116/2567 ลงวันที่  6 กุมภาพันธ์  2567 จับกุมตัวนายสุวรรณ  อายุ 42 ปี หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง  ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 506/2567 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้ที่หน้าบ้านเลขที่ 67/693 หมู่บ้านพระปิ่น 3 ซอย 11 หมู่ 17 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี  หลังสืบทราบว่ามีการนำข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินของตนเองมาดัดแปลงแก้ไขและนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มที่สนใจ อาทิ ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน ซึ่งบางกรณีตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ 

จากการตรวจค้นในบ้านพักพบคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือ ที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลของลูกค้าและประชาชนที่ซื้อขายข้อมูลมาจากบุคคลอื่น และข้อมูลลูกค้าที่ผู้ต้องหาถือเก็บไว้

สอบสวนให้การรับสารภาพว่า ทำการเก็บข้อมูลลูกค้าจากการจดบันทึก และจัดทำเป็นไฟล์เอกสารแล้วจึงนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มนายหน้าประกัน นายหน้าสินเชื่อของสถาบันธนาคารการเงินอื่น โดยไม่ถูกขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะทยอยนำรายชื่อลูกค้าประมาณ ครั้งละ 3,000–5,000 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ไปจำหน่ายต่อในราคารายชื่อละ 1 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมในแต่ละเดือนหลักหลาย 10,000 บาท โดยกระทำการในลักษณะเช่นนี้มาแล้วกว่า 1-2 ปี เพื่อใช้ข้อมูลชื่อลูกค้าในการทำงานฝ่ายสินเชื่อมากขึ้น จึงแจ้งข้อหา ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้นำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่นทำให้เสียหาย, ทำลาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบอันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและพ.ร.บ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์

คดีที่สอง พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒิ ผกก.4 บก.สอท.2  นำกำลังจับกุม น.ส.กัญญาณี อายุ 24 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ จ.23/2567 ลงวันที่ 8 ก.พ. ในความผิดเป็นธุระจัดหาโฆษณาหรือขายข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อขายให้เช่าหรือให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นๆ โดยคุมตัวได้ที่บริเวณด่านพรมแดนคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังออกอุบายชักชวนคนไปทำงานออนไลน์ โดยให้เปิดบัญชีธนาคาร แต่สุดท้ายกลับถูกหลอกเป็นคอลเซ็นเตอร์ที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ส่วนบัญชีธนาคารที่ถูกเปิดไว้นั้น ถูกนำไปเป็นบัญชีม้าของขบวนการดังกล่าว ซึ่งต่อมาภายหลังผู้เสียหายได้หลบหนีมาได้จึงได้เข้าแจ้งความและนำไปสู่การจับกุม

คดีที่สาม นอกจากนี้ยังทลายเว็บพนันออนไลน์ 2 เครือข่าย ประกอบไปด้วย ramruy.net และ pok9.com โดยจับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 26 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มรับผลประโยชน์, ทำหน้าที่จัดการเรื่องการเงิน, บัญชีม้า ตลอดจนแอดมิน เป็นต้น โดยตรวจยึดของกลางและทรัพย์สินอาทิ เงินสดกว่า 18 ล้าน, รถยนต์ 2 คัน รถจยย. 2 คัน กระเป๋าแบรนด์เนม 11 ใบ เครื่องประดับนาฬิกาหรู  คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สมุดบัญชีธนาคารจำนวนมาก มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท โดยทั้งสองเว็บมีกลุ่มลูกค้า 140,000 ราย พบเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 300 ล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยแผนงานปี 2567 ทางกระทรวงฯ ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ยกระดับ ศูนย์ AOC 1441 ใช้ AI ช่วยตรวจจับ วิเคราะห์ ประมวลผล ขยายผลกวาดล้างบัญชีม้า, Call alert แอปพลิเคชันแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์เสี่ยงภัยออนไลน์, ศูนย์ PDPC Eagle Eye ตรวจ ป้องปราม ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และซื้อขายข้อมูล, เปิดก่อนจ่าย แก้ปัญหาซื้อของออนไลน์ เก็บเงินปลายทาง (COD) ได้ของไม่ตรงปก และไซเบอร์วัคซีน รู้เท่าทันภัยออนไลน์

ด้าน ดร.ศิวรักษ์ กล่าวว่า จากข้อมูลผลการปฏิบัติศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล PDPC Eagle Eyes ระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ผลการตรวจ 21,003 หน่วย พบข้อมูลรั่วไหล 5,881 เรื่อง ในจำนวนนี้ เป็นองค์กรท้องถิ่น 2,790 เรื่อง, หน่วยงานรัฐ 2,393 เรื่อง และแก้ไขแล้ว 5,869 เรื่อง  อีกทั้งตรวจพบขายข้อมูล 67 เรื่อง ซึ่งทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ นอกจากนี้เตรียมที่จะเสนอแนวทางปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10 ปี