จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ พร้อมด้วย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนและทีมงาน ได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนกว่า 10,000 ตู้ (ชิ้นส่วนหมูแช่แข็ง ชิ้นส่วนวัวแช่แข็ง และตีนไก่สวมสิทธิ) ซึ่งถูกลักลอบนำเข้าราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย เพื่อขยายผลติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด กระทั่งรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 5 ราย ประกอบด้วย นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ เฮียเก้า นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ (บุตรชายเฮียเก้า) นายสมเกียรติ กอไพศาล (อดีตเลขานุการนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร เชาว์วัย (สองสามีภรรยา) ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน จับกุมแล้ว 4 ราย เหลือเพียงนายกรินทร์ (บุตรชายนายหลี่) ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับที่ต่างประเทศ โดยภายหลังการจับกุม พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบปากคำในบางประเด็น เนื่องจากผู้ต้องหาส่วนใหญ่ต้องการส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแทน จึงได้มีการนัดหมายให้ผู้ต้องหาแต่ละรายเข้ารายงานตัว ดังนี้ นายสมเกียรติ กอไพศาล วันที่ 8 ก.พ. (เข้าพบดีเอสไอแล้ว), นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร เชาว์วัย สองสามีภรรยา (เข้าพบดีเอสไอเเล้วเมื่อวันที่ 8 ก.พ.), นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ เฮียเก้า วันที่ 16 ก.พ. ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ก.พ. ที่ ห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ เฮียเก้า พร้อมด้วยทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ได้เดินทางเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อรายงานตัว พิมพ์ลายนิ้วมือ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ามอบตัวก่อนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และให้ปากคำในบางประเด็น จากทั้งหมด 30 ประเด็น และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนด้วยการวางหลักทรัพย์เงินสด 200,000 บาท พนักงานสอบสวนจึงนัดหมายให้เฮียเก้าเข้ารายงานตัวเพื่อยืนยันตัวตนว่าไม่ได้มีการหลบหนี และเตรียมสอบปากคำในประเด็นคงค้างที่เหลือ โดยเฉพาะในรายงานการสืบสวนของดีเอสไอ ปรากฏข้อมูลการเดินทางไปต่างประเทศ ระหว่างเฮียเก้าและข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับสูง

โดยประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะฉายให้เห็นถึงความสัมพันธ์สนิทสนมกัน อาทิ กรณีของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พบกิจกรรมเดินทางไปต่างประเทศกับเฮียเก้า จำนวน 3 ครั้ง ล่าสุดคือช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบบุคคลอื่น ๆ อีก บางราย จำนวน 4 ครั้ง บางราย 5 ครั้ง บางราย 6 ครั้ง แต่ทั้งหมดล้วนเดินทางกันไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และไปเมืองมาเก๊า และกลับมายังประเทศไทยพร้อมกัน ซึ่งในเรื่องนี้ตามรายงานของพนักงานสอบสวนได้ตั้งประเด็นข้อสงสัยว่าอาจมีการนำเงินจำนวนหนึ่งไปฝากพักไว้ที่มาเก๊า ซึ่งการสอบปากคำครั้งที่ 2 ในวันนี้นั้น เฮียเก้าจะต้องชี้แจงในข้อเท็จจริง โดยจะให้ถ้อยคำอย่างไรก็ได้ เเต่ประเด็นคำถามทั้งหมดเกิดจากการที่ดีเอสไอได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขยายผลจนพบข้อมูลทั้งหมด จึงเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาของตัวเอง

ต่อมาเวลา 10.00 น. เฮียเก้าเดินออกจากห้องพนักงานสอบสวนภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการรายงานตัว ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถามว่า วันนี้มีอะไรอยากจะชี้แจงหรือไม่ ปรากฏว่า เฮียเก้า ได้ยกมือไหว้สวัสดีผู้สื่อข่าว พร้อมกับระบุว่า วันนี้พิมพ์ลายนิ้วมือเฉยๆ และสบายใจขึ้นที่ได้เข้ามาชี้แจง ก่อนยกมือปฏิเสธว่าไม่ได้ประกอบกิจการขายส่งตีนไก่ไปยังประเทศจีน ไม่ได้มีความข้องเกี่ยวเลย ต่อข้อถามว่ารู้จักกันกับนายสมเกียรติ กอไพศาล หรือ เฮียเกียรติ หรือไม่ เพราะในครั้งที่แล้วเฮียเกียรติยอมรับว่ารู้จักกับเฮียเก้า แต่ไม่ได้ทำธุรกิจขายส่งตีนไก่ด้วยกันนั้น เฮียเก้าไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ก่อนระบุว่า “ขอแค่นี้พอครับ” จากนั้นเฮียเก้าได้รีบเดินทางกลับที่พัก ผู้สื่อข่าวจึงพยายามสอบถามถึงประเด็นของนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ บุตรชายของเฮียเก้า ซึ่งตกเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาเช่นกันว่าได้รับการประสานว่าจะเข้ามามอบตัวหรือไม่ เฮียเก้า ระบุว่า เขาเป็นบุตรบุญธรรมของตน และเขาต้องกลับมาสู้คดีอยู่แล้ว เพราะเขาไม่ได้ทำผิด เขาต้องกลับมา แต่ตอนนี้ตนยังติดต่อเขาไม่ได้ว่าจะกลับมาไทยในวันที่เท่าไร

ต่อมาเวลา 10.15 น. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า วันนี้เฮียเก้าเข้ามารายงานตัวครั้งที่ 1 ภายหลังจากที่ได้รับการประกันตัวชั่วคราวไป และเราได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 15 มี.ค. อีกทั้งเฮียเก้าได้แจ้งพนักงานสอบสวนว่าจะขอกลับไปรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อมาชี้แจงในวันที่ 15 มี.ค. เพราะวันนี้กระบวนการมีเพียงแค่รายงานตัวและพิมพ์ลายนิ้วมือเท่านั้น ส่วนประเด็นที่เฮียเก้าจะต้องเข้ามาชี้แจงในครั้งถัดไปนั้น จะเป็นประเด็นทั้งหมดที่เราสอบปากคำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังสมาชิกสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย หรือภาพถ่ายต่างๆ ที่เจ้าตัวถ่ายร่วมกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งเฮียเก้ารับปากว่าจะกลับไปรวบรวมเอกสารเพื่อนำมาให้พนักงานสอบสวน

ส่วนกรณีของนายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือนายมิกซ์ บุตรชายของเฮียเก้า ซึ่งตกเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาในคดีนั้น พ.ต.ต.ณฐพล ระบุว่า ดีเอสไอยังไม่ได้รับการประสานติดต่อว่าเจ้าตัวจะเข้ามอบตัวในวันใด แต่ทราบว่าอยู่ที่ต่างประเทศ และเฮียเก้ายังไม่ได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับลูกชายบุญธรรมกับดีเอสไอแต่อย่างใด ส่วนการติดตามตัวกรณีที่เขาอยู่ต่างประเทศ เราก็ได้ประสานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอยู่ว่าปัจจุบันผู้ต้องหาอยู่ที่ประเทศใด เพื่อติดตามตัวกลับมาดำเนินคดี

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า สำหรับรายงานการสืบสวนของดีเอสไอยังพบว่าเฮียเก้าเคยมีภาพถ่ายซึ่งบ่งบอกถึงการมีกิจกรรมเดินทางไปต่างประเทศร่วมกับข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับสูงจริง ซึ่งในเรื่องนี้เราก็จะใช้สอบถามในวันที่ 15 มี.ค.เช่นกัน จึงอยู่ที่เฮียเก้าว่าจะชี้แจงอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ บุคคลที่เป็นข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับสูงที่ไปต่างประเทศกับเฮียเก้าจะเป็นใคร ขอให้ดูได้จากภาพข่าวที่ปรากฏตามการรายงานข่าวของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เราจะมีการเรียกบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายร่วมกับเฮียเก้ามาสอบถามถึงสาเหตุที่เข้าไปอยู่ในภาพเฟรมเดียวกัน รวมทั้งประเด็นการสืบสวนทั้งหมดของดีเอสไอ ก็จะต้องใช้สอบถามด้วยว่าทำไมจึงมีการติดต่อระหว่างกัน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“สำหรับกรณีของเฮียเก้า เรารวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานมานานจนสามารถขอศาลออกหมายจับได้ หลังจากนี้ดีเอสไอจึงอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเรื่องเส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมทางการเงินของเขาว่าจะไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับใครบ้าง เพื่อให้เราขยายผลดำเนินการทางคดีเพิ่มเติม” หัวหน้าพนักงานสอบสวนระบุ

ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล ระบุปิดท้ายว่า ในการดำเนินคดีกับเฮียเก้าและพวก รวม 5 รายในเลขคดีที่ 127/2566 คณะพนักงานสอบสวนคาดว่าจะดำเนินการสรุปสำนวนแล้วเสร็จส่งพนักงานอัยการในช่วงเดือน เม.ย. แต่ระหว่างนี้หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เราก็จะดำเนินการนำเข้าสำนวนคดีเพื่อการสอบสวนต่อไป และอาจจะมีจำนวนผู้ต้องหาเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากเลขคดีนี้เราทำในรูปแบบองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดกว่า 10,000 ตู้ จึงไม่แปลกที่จะมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก และถ้าพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงใคร เราก็ต้องดำเนินคดีทั้งหมด

ขณะที่ความคืบหน้าด้านการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรายการทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาในคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร โดยคณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ในการนี้สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ เป็นทรัพย์สินประเภทที่ดิน รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝาก มูลค่าประมาณ 43 ล้านบาท (คำสั่ง ย.248/2566) รวมทั้งหมด 96 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวยังพบว่า นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินเข้าห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดสำคัญในคดี อาทิ การเตรียมออกหมายจับ หมายเรียกพยาน หรือหมายเรียกผู้ต้องหาแก่กลุ่มนักการเมืองในครั้งถัดไป ในการนี้ผู้สื่อข่าวจึงตรวจสอบไปยังบัญชีเฟซบุ๊กของ นางกาญจนี วัลยะเสวี แกนนำกลุ่มชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เคยโพสต์ข้อความและรูปภาพผ่านบัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อ “Kanjanee Valyasevi” เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 ระบุใจความขอให้นายเฉลิมชัย และนายเดชอิศม์ ต้องออกมาตอบคำถามว่าไปทำอะไรกับบุคคลที่ถูก DSI ออกหมายจับ ทั้งยังปรากฏภาพถ่ายที่มีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายชัยชนะ เดชเดโช นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมบันทึกอยู่ในเฟรมเดียวกันกับเฮียเก้า สถานที่คล้ายห้องประชุมที่จัดขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน.