สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ว่า ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 ประชาชนในอิตาลีหลายพันคน ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิพากษา บาทหลวง และพยานในเหตุการณ์ ต่างเสียชีวิตจากความรุนแรงของแก๊งมาเฟีย และกลุ่มติดอาวุธจากฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด เช่น การวางระเบิด และการลอบสังหาร

กระนั้น เมื่อช่วงเวลานองเลือดดังกล่าวสิ้นสุดลง และหลังจากการปราบปรามของรัฐบาลอิตาลี ซึ่งผลักดันให้แก๊งมาเฟียหันไปก่ออาชญากรรมทางการเงินที่มีความรุนแรงน้อยลง อัตราการฆาตกรรมของประเทศจึงลดลง

ตามตัวเลขจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อิตาลี ในปี 2533 เกิดการฆาตกรรม 34 ครั้งต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 24 ครั้งในฝรั่งเศส แต่ในช่วงปี 2564–2565 อัตราการฆาตกรรมของอิตาลี ลดเหลือ 5.5 ครั้งต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนตัวเลขในฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี อยู่ที่ 11 ครั้ง, 10 ครั้ง และ 8 ครั้ง ตามลำดับ

ด้านนางราฟาเอลลา เซตเต นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโบโลญญา กล่าวว่า การฆาตกรรมโดยทั่วไปในอิตาลี ลดลงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปอร์เซ็นต์ของการสังหารผู้ชาย ซึ่งพวกเขาเคยเป็นเหยื่อหลักของแก๊งมาเฟีย

“แก๊งมาเฟียต่าง ๆ ทั้งกามอร์รา, เอ็นดรังเกตา และกอซา นอสตรา เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตอนนี้ พวกเขาดำเนินงานจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการเข้าสู่บริษัทต่าง ๆ” นายจานลูกา อาร์ริกี ทนายความคดีอาญา กล่าวเพิ่มเติมว่า อิตาลียากจนกว่าประเทศเพื่อนบ้านในสหภาพยุโรป (อียู) แต่สิ่งนี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคมเสมอไป เนื่องจาก “ความปรารถนาดีระหว่างผู้คน” สามารถชดเชยความยากลำบากของชีวิตได้

แม้อัตราการฆาตกรรมทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศ ยังคงสูงกว่าภูมิภาคอื่น แต่นายสเตฟาโน เดลฟินี หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์อาชญากรรม จากหน่วยงานความมั่นคงสาธารณะของรัฐบาล เห็นด้วยว่า สังคมของอิตาลีในขณะนี้ มีความรุนแรงน้อยลงจริง ๆ.

เครดิตภาพ : AFP