ด้วยอุณหภูมิที่พุ่งสูง ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรง และระดับนํ้าทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนว่า โลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาคธุรกิจผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความผันผวนของปัจจัยต่าง ๆ จึงถือเป็นโอกาสดีที่ Sustainable Daily และ อ.สุกิจ อุทินทุ CSR MAN ได้ร่วมพูดคุยกับ “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อเปิดมุมมองในการปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้เอสเอ็มอีไทย อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านช่องทาง ยูทูบ Dailynews Online รายการ Sustainable Daily มีทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.30-17.00 น.

“แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า โลกที่กำลังเดือด เรียกได้ว่า เป็นภาวะ “ระอุ” ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านผลผลิต ปัจจัยทางด้านราคา ไปจนถึงปัจจัยเรื่องของภาษีที่จะตามมา เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินำมาซึ่งปัญหาการสูญเสียแรงงาน การขาดแคลนทรัพยากร ผลผลิตทางการเกษตรที่แย่ลง ตามมาด้วยต้นทุนการผลิตและดำเนินงานสูงขึ้น ราคาพลังงาน นํ้า และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้น

อีกทั้งโลกในปัจจุบันยังเกิดสงครามความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในทุกปี ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดความเข้มงวดมากขึ้น ในการที่จะต้องรณรงค์นำมาตรการต่าง ๆ ในเชิงบังคับ เพื่อที่จะทำให้กลไกของกิจการอยู่ในกรอบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างคาร์บอนสูง การปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง พัฒนาระบบการผลิตและดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อส่งต่อไปยังการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เอสเอ็มอี จะร่วมเป็นองคาพยพในการช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาครัฐนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และภาคแรงงานทั่วประเทศ ได้มีช่องทางในการเข้าถึงนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะใช้ในการปรับตัว และเตรียมรับมือกับสภาวะโลกเดือดได้อย่างยั่งยืน

“เราพูดเรื่อง ESG และ SDGs กันมาระยะหนึ่ง แต่จริง ๆ เรามีของดีที่อยู่ใกล้ตัวแต่อาจหลงลืมไป คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ความรู้ควบคู่คุณธรรม การมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ไม่ก่อหนี้เกินตัว และประมาณตนได้เป็นอย่างดี เรามองว่า การใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจจะเป็นกลไกในการช่วยส่งเสริม ESG และ SDGs ให้ดียิ่งขึ้นด้วยซํ้า”

สำหรับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 นับเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการเชื่อมโยงให้เข้าถึง เข้าใจและนำไปพัฒนาทุกภาคส่วนได้อย่างลึกซึ้ง และไม่เพียงแต่ถอดรหัสเอสเอ็มอีด้วย “เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน” แต่ยังมุ่งหมายถึงทุกธุรกิจและทุกภาคส่วนที่อยู่ร่วมกันในระบบเศรษฐกิจ และประเทศไทย

โดยยึดหลักความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต และการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า การประกอบอาชีพกิจการ ทำงานด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต ลดละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ที่เอารัดเอาเปรียบธุรกิจขนาดเล็กกว่าและแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ไม่หยุดนิ่งที่จะหาวิธีการให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการแสวงหาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ “ไม่ใช่ทำธุรกิจหรือทำงานใช้หนี้ทั้งชีวิต” รวมทั้งปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา นี่คือ “เศรษฐกิจพอเพียง รหัสไม่ลับที่ขยับเอสเอ็มอีก้าวสู่ความยั่งยืน”

อย่างไรก็ตามองค์กรเครือข่ายนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการจิตอาสา เอสเอ็มอี จากทั่วประเทศมารวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมในการเป็นกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายภาคเอกชนอื่น ๆ รวมถึงภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมในการที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีภารกิจหลัก ๆ อยู่ 5 เรื่องด้วยกัน

1. ส่งเสริมการเชื่อมโยงองค์ความรู้ควบคู่นวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการ SME โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการทำโครงการต่าง ๆ เช่น ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ผู้ประกอบการ SME จะสามารถเลือกรับการบริการในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน

2. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME ได้มีช่องทางแหล่งทุนต้นทุนตํ่าในการประกอบอาชีพ สมาพันธ์ฯ จะเป็นกลไกประสานงานเพื่อช่วยเหลือในส่วนนี้ให้ และยังร่วมมือกับสถาบันทางการเงินของรัฐในการเติมความรู้ควบคู่แหล่งทุนเพื่อให้ผู้ประกอบสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและยกระดับการประกอบธุรกิจต่อไปได้

3. ส่งเสริมการตลาดภายในและต่างประเทศ รวมถึงการตลาดดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SME ร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรกัน อีกทั้งกรมส่งเสริมความรู้ระหว่างประเทศก็ได้เข้ามาอธิบายการเข้าถึงกลไกทางการตลาดของแต่ละประเทศอีกด้วย

4. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนา SME ของประเทศ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ทุกจังหวัดทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสมาพันธ์ SME ไทย

5. เป็นกระบอกเสียงให้กับ SME ในการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญอยู่ นำมาสื่อสารกับภาครัฐ และภาคเอกชนในทุกมิติ พร้อมทั้งเสนอแนวทางการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับ SME.

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]