นายเดวิด เอ็มม์ หัวหน้านักวิจัยด้านความปลอดภัย แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจ โดยสอบถามประชากร 21,000 คนทั่วโลก เผยให้เห็นข้อมูลที่เกี่ยวกับการละเมิดทางดิจิทัล ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนหนึ่งในสาม หรือ 34%  เชื่อว่า การสืบค้นผ่านกูเกิลและการตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียของคนที่เริ่มออกเดทด้วย เป็นรูปแบบหนึ่งของการตรวจสอบสถานะที่ยอมรับได้ และ 41% ยอมรับว่าทำเช่นนั้นเมื่อเริ่มออกเดทกับใครสักคน

และผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเกือบหนึ่งในสี่  หรือ 23% เคยประสบปัญหาการสะกดรอยตามทางออนไลน์จากคนที่เพิ่งออกเดทด้วย และผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 90% ยินดีบอกรหัสผ่านให้อีกฝ่าย ซึ่งอาจทำให้รู้ถึงตำแหน่งของตนได้

“นักเดทออนไลน์กระตือรือร้นที่จะดำเนินการเพื่อปกป้องตนเองในการมองหาความรัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนแค่เกือบหนึ่งในสี่  หรือ 23% กล่าวว่า ตนเองเคยพบเจอการสะกดรอยตามทางออนไลน์จากคนที่เพิ่งออกเดทด้วย แต่ก็นับว่ายังมีความเสี่ยงที่จะถูกสะกดรอยตามและถูกละเมิดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งค่าแจ้งสถานที่อยู่ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และการแชร์ข้อมูลในวงกว้างที่มากเกินไป”

สำหรับประเภทของการละเมิดนั้นแตกต่างกันไป โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าหนึ่งในสาม หรือ 39% รายงานรูปแบบความรุนแรงหรือการละเมิดบางรูปแบบจากคู่รักในปัจจุบัน หรือก่อนหน้านี้ ดังนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 16% ได้รับอีเมลหรือข้อความที่ไม่ต้องการ และที่น่ากังวลมากที่สุดคือ 13 % ถูกถ่ายวิดีโอหรือถ่ายภาพโดยไม่ได้รับความยินยอม อีก 10% ยอมรับว่าถูกติดตามตำแหน่งของตน และผู้ตอบแบบสอบถาม 10% ระบุว่าบัญชีโซเชียลมีเดียหรืออีเมลของตนถูกแฮก และที่น่ากังวลคือ 7% พบการติดตั้งสตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware) บนอุปกรณ์ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอม

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิงที่เคยประสบความรุนแรงหรือการละเมิดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มีสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้ชาย (42% เทียบกับ 36%) เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่า นักออกเดทในปัจจุบันมีประสบการณ์ความรุนแรงหรือการละเมิดมากกว่าผู้ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาว (48% เทียบกับ 37%) ในความเป็นจริงผู้ตอบแบบสอบถาม 34% กล่าวว่า ตนกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะถูกสะกดรอยตามทางออนไลน์ และผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้หญิงมีความกังวลต่อโอกาสนี้มากกว่าผู้ชายเล็กน้อย (36% เทียบกับ 31%)

ทั้งนี้ ลักษณะการถูกคุกคามนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยผู้ที่ประสบปัญหาการสะกดรอยตามทางออนไลน์ส่วนใหญ่มาจากประเทศบางส่วนในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และเอเชีย โดยผู้ตอบแบบสอบถามในอินเดีย 42% รายงานว่าถูกสะกดรอยตามทางออนไลน์บางรูปแบบ เช่นเดียวกับ 38% ในเม็กซิโก และ 36% ในอาร์เจนตินา

นายเดวิด เอ็มม์ กล่าวต่อว่า Internet of Things หรือโลกที่เชื่อมต่อถึงกันนั้นยอดเยี่ยมและนำเสนอความเป็นไปต่างๆ ได้มากมาย แต่โอกาสนี้ก็มาพร้อมกับภัยคุกคาม และหนึ่งในภัยคุกคามของโลกที่เชื่อมต่อถึงกันก็คือ ความเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้ผู้ใช้ออนไลน์เสี่ยงต่อการถูกละเมิด แม้ว่าเหยื่อของการสะกดรอยตามจะไม่ถูกตำหนิเรื่องพฤติกรรม แต่แท้จริงแล้วผู้ใช้ออนไลน์มีสิ่งที่จะต้องทำเพื่อลดความเสี่ยง ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่มีการเพื่อยืนยันตัวตนทางออนไลน์ แต่ขอเสริมว่า ผู้ใช้ควรหยุดคิดสักนิด และตรวจสอบข้อมูล รหัสผ่าน หรือข้อมูลใดๆ ที่ได้แชร์ออกไป เพื่อพิจารณาว่าข้อมูลนั้นจะถูกนำไปใช้โดยผู้ไม่หวังดีได้อย่างไรบ้าง

นางสาวเอ็มม่า พิกเคอริ่ง หัวหน้าฝ่ายการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและการเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจ องค์กร Refuge กล่าวว่า “การหาคู่ออนไลน์และพื้นที่เสมือนจริงอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการยืนยันความถูกต้องในโซเชียลมีเดียและแอปหาคู่ ซึ่งสามารถช่วยยืนยันได้ว่าโปรไฟล์ของผู้ใช้ตรงกับรูปถ่ายจริง เท่าที่รู้มีแอป Bumble เป็นแอปหาคู่เพียงแอปเดียวที่ใช้การยืนยันระดับนี้ ดิฉันอยากให้มีการใช้มาตรการความปลอดภัยที่คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ควรมีคู่มือด้านความปลอดภัยและแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงได้ในหลายภาษา เพื่อให้ผู้ใช้ที่มีมาตรการเปราะบางได้รับการสนับสนุนการใช้งานที่จำเป็น โดยไม่ต้องลงทะเบียนแอปอีก”

“กฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของสหราชอาณาจักรกำหนดแบบอย่างโดยการควบคุมแพลตฟอร์มเพื่อปกป้องผู้ใช้ เนื่องจากลักษณะที่แพร่หลายของการสะกดรอยตามและการละเมิดที่มีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวก เราขอแนะนำให้ผู้ใช้รักษาสถานะออนไลน์ของตนให้ปลอดภัย รวมถึงรหัสผ่านและบัญชีต่างๆ ผู้ที่มีข้อกังวลควรติดต่อหน่วยงานหรือบริการสนับสนุนในพื้นที่”

สำหรับวิธีเพิ่มเติมในการรักษาความปลอดภัยจากสตอล์กเกอร์แวร์ (stalkerware) โปรดไปที่เว็บไซต์ https://stopstalkerware.org/resources/

• เก็บรหัสผ่านไว้กับตัวเอง และตรวจสอบให้แน่ใจว่ารหัสผ่านมีความซับซ้อนและไม่ซ้ำกัน

• หากมีสิ่งที่ดูดีเกินกว่าที่จะเป็นจริง ก็อาจเป็นข้อมูลปลอม หากมีข้อสงสัยใดๆ ควรตรวจสอบ

• ใช้เวลาสักครู่เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเป็นส่วนตัวดิจิทัลของตนเอง

• คิดก่อนแชร์ อินเทอร์เน็ตนั้นเก็บบันทึกความจำได้ยาวนาน และการแชร์เร็วเกินไปไม่ทันคิด อาจทำให้เกิดความเสี่ยงได้

• ทำ ‘แผนความปลอดภัย’ หากเลือกย้ายความสัมพันธ์จากโลกดิจิทัลไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง

• พิจารณาใช้การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือโซลูชัน VPN ที่ครอบคลุมเพื่อปกป้องตนเอง