เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายวินัย รอดจ่าย รองประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นประธานในการแถลงข่าวผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ บริเวณสวนวันครู หน้าอาคาร สพฐ.1 กระทรวงศึกษาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประกวดหนังสือดีเด่นมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือดี มีคุณภาพ และสารประโยชน์สู่สาธารณชนให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้จัดพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้วาดภาพประกอบ และบุคคลทั่วไปผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการผลิตหนังสือ เกิดความตระหนักและให้ความสำคัญที่จะผลิตหนังสือดี มีคุณค่า มีสารประโยชน์ รวมทั้งพัฒนารูปแบบและเนื้อหาสาระให้น่าสนใจ ทำให้เด็ก เยาวชน และประชาชน มีหนังสืออ่านที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น สำหรับการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 เป็นการประกวดหนังสือที่ตีพิมพ์โฆษณาเป็นเล่มบริบูรณ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2566 ในปีนี้มีผู้ประพันธ์ ผู้จัดพิมพ์ และหน่วยงานต่างๆ ร่วมส่งหนังสือประกวดรวมจำนวนทั้งสิ้น 338 เรื่อง จากสำนักพิมพ์กว่า 90 แห่ง แยกเป็นกลุ่มหนังสือต่างๆ ได้แก่ หนังสือสารคดี หนังสือนวนิยาย หนังสือกวีนิพนธ์ หนังสือรวมเรื่องสั้น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ และหนังสือสวยงาม

การพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 สพฐ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธานกรรมการ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายวินัย รอดจ่าย และนางสุกัญญา งามบรรจง เป็นรองประธานกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการ และนายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยผลการพิจารณาตัดสินหนังสือให้ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2567 มีหนังสือได้รับรางวัล 56 เรื่อง แยกเป็น รางวัลดีเด่น 14 เรื่อง รางวัลชมเชย 42 เรื่อง ดังรายชื่อต่อไปนี้

รางวัลดีเด่น 14 เรื่อง ดังนี้ หนังสือสารคดี มี 3 ด้าน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล ด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชีวประวัติ เรื่อง กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม ประพันธ์โดย กุสุมา รักษมณี ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้านการท่องเที่ยว อาหาร ฯลฯ เรื่อง คู่มือนำชม 33 พระอารามหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ; จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (ในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด)

หนังสือนวนิยาย เรื่อง หากน้ำตายังคิดถึงก้อนเมฆ ประพันธ์โดย ศิริ มะลิแย้ม ; จัดพิมพ์โดย แป้นพิมพ์ พับลิชชิ่ง หนังสือกวีนิพนธ์ เรื่อง ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน ประพันธ์โดย วรวุฒิ ภักดีบุรุษ ; จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เรืองอรุณ หนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่อง DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ ประพันธ์โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์แซลมอน ในเครือบริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด

หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี เรื่อง เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา ประพันธ์โดย ปรีดา ปัญญาจันทร์ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี มี 2 ประเภท ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง เรื่องเล่าชาวชะนี ประพันธ์โดย จริยา บรอคเคลแมน และจันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์ จัดพิมพ์โดย NSTDA Shop สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประเภทสารคดี เรื่อง เมื่อมะลิผลิบาน ประพันธ์โดย ผศ.สุทัศน์ ปาละมะ จัดพิมพ์โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี มี 3 ประเภท ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง โคโค่กับนกฟีนิกซ์ที่หายไป ประพันธ์โดย วงเวลา ; จัดพิมพ์โดย ภารวี ชีวพันธุศรี ประเภทสารคดี เรื่อง ปาด นักรายงานอากาศประจำบ้าน ประพันธ์โดย ศาตพจี (สาด พะ จี) รินสุวรรณ จัดพิมพ์โดย Artbook ประเภทบทร้อยกรอง ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล

หนังสือการ์ตูน และ หรือนิยายภาพ มี 3 ประเภท การ์ตูน และ หรือนิยายภาพสำหรับเด็ก (อายุ 6–11 ปี) ไม่มีหนังสือเรื่องใดสมควรได้รับรางวัล การ์ตูน และ หรือนิยายภาพทั่วไป (อายุ 12 ปีขึ้นไป) เรื่อง เบบี้ ONE MORE TIME ประพันธ์โดย วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ์; จัดพิมพ์โดย บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด การ์ตูนปกิณกะเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง ชุดการ์ตูนเล่มละบาป : แลกชีวิต/ฤทธิ์โจรบู๊/ชู้ไร้อันดับ/ลับ ลวง ใจ/เมาให้ลืม ประพันธ์โดย นิพนธ์ นิค ; จัดพิมพ์โดย บริษัท บันลือ พับลิเคชั่นส์ จำกัด

หนังสือสวยงาม มี 2 ประเภท ประเภททั่วไป เรื่อง เทวรูปา : ประติมานวิทยาฮินดูจากประติมากรรม ชิ้นเอกในศิลปะอินเดีย ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี จัดพิมพ์โดย ทีมงาน What The Book Publishing ประเภทสำหรับเด็ก เรื่อง ร้องเป็นเล่นสนุก บทร้องเล่นเด็กไทย รวบรวมโดย พี่มู ; จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน


ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลในพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และพระราชทานพระราชวโรกาสให้นำผู้ชนะการประกวดหนังสือดีเด่นเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร