นายนวนิตย์ พลเคน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2567 ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบกิจกรรม/การดำเนินงาน ในพื้นที่เป้าหมายโครงการ “นำร่อง” การแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่ที่ได้รับคัดเลือก ปี 2567 ประกอบด้วย 1. การพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้ภาคการเกษตร เพื่อลดผลกระทบหมอกควันไฟป่า ในพื้นที่ หมู่ 1-4 ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ประกอบด้วย 6 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเพื่อแก้ไขปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ 2 ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ประโยชน์จากไผ่อย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ 3 การสร้างอาหารเป็นตู้เย็นหลังบ้านแบบผสมผสานภายใต้ชุมชนก้อโมเดล กิจกรรมที่ 4 การพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ กิจกรรมที่ 5 ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยไม้ และกิจกรรมที่ 6 การติดตาม/ประเมินผลการดำเนินงาน และ 2. การส่งเสริม/ปรับเปลี่ยนอาชีพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (บ้านหนองกระทิง) ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และกิจกรรมที่ 3 การสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. เป็นพื้นที่ที่ประชาชน/ชุมชนมีการประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80) 2. เป็นพื้นที่เป้าหมายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือโครงการต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3. ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ/สร้างความเสียหายในวงกว้าง ทั้งต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4) ข้อเสนอโครงการ/กิจกรรม มีลักษณะเป็นการนำร่องการดำเนินการ เพื่อสร้างให้เกิดชุมชนต้นแบบการพัฒนาและมีความยั่งยืน เพื่อนำไปขยายผล/ความสำเร็จไปสู่ชุมชนรอบข้าง

ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายของจังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านที่ประสบปัญหาไฟป่ามากที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งเกษตรกรร้อยละ 90 ปลูกข้าวโพด เนื่องจากไม่มีอาชีพทางเลือก ไม่มีองค์ความรู้ และขาดน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งการเป็นพื้นที่นำร่อง จะทำให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกที่สร้างรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรไม่เข้าไปหาของป่าและไม่เผาป่า และสร้างต้นแบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตร (ผลผลิต/ไร่) อยู่ในเกณฑ์ต่ำ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ลักษณะพื้นที่เป็นดินลูกรังปนทราย ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช และเป็นหมู่บ้านที่อยู่พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (หมู่บ้านคชานุรักษ์) ประสบปัญหาช้างป่าบุกรุกในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการเป็นพื้นที่นำร่อง จะทำให้เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตร และมีประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น เกษตรกรมีองค์ความรู้ มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป