เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงเหลือ 1.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จีดีพีทั้งปี 2566 อยู่ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเกิดในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ และหากเจาะลึกดูรายละเอียด พบว่าตัวเลขเงินลงทุนภาครัฐลดลง จึงถือว่ารัฐบาลของนายเศรษฐาสอบตก แม้รัฐบาลแก้ตัวว่าเป็นเงื่อนไขเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณมีความล่าช้า แต่รัฐบาลต้องรู้และเตรียมตัว ตนจึงขอให้รัฐบาลตั้งสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี อย่ากังวลเรื่องนายกฯ เงามากเกินไป อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่านโยบายการเงินจะได้รับการตอบสนองจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเร็วๆ นี้ โดยเริ่มต้นลดดอกเบี้ย แต่ไม่ควรคาดหวังผลระยะสั้น 3 หรือ 6 เดือนนี้ เพราะการที่ลดดอกเบี้ยได้ผลจริงๆ ควรจะลดไม่ต่ำกว่า 50 สตางค์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้นนี้ และหาก ธปท. ยอมลดดอกเบี้ยจริง ผู้ประกอบการรายใหญ่จะได้ประโยชน์ทันที ส่วนรายย่อยต้องรอ เพราะผู้ให้กู้มองความเสี่ยงเหมือนเดิม

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น นายกฯ ต้องมีสมาธิใช้สำนึกความรับผิดชอบ ความรู้ ความสามารถ และอำนาจในมือแก้ปัญหาได้ เพราะการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ทางเดียวที่ใช้แก้ปัญหา อีกทั้งรัฐบาลอย่าพยายามโยนบาปให้ ธปท. อีก ในเรื่องการลดดอกเบี้ย แต่รัฐบาลควรเร่งพูดคุยกับ ธปท. เรื่องผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ และนโยบายการคลังไม่ใช่เรื่องงบประมาณอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของภาษีต่างๆ ซึ่งอำนาจอยู่ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการให้สอดคล้องกัน

“ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาไม่ดีนั้น ชัดเจนว่าเป็นผลจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ที่ผิดพลาด และไม่ควรเบี่ยงเบนความผิดโยนบาปให้แบงก์ชาติเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน รัฐบาลชุดที่แล้วบริหารดีกว่านี้ ทั้งที่ปัจจัยบวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวเรื่องการส่งออกการลงทุนการบริโภคดีขึ้น อัตราการว่างงานต่ำที่สุดในช่วง 32 ไตรมาส ถามว่ารัฐบาลรู้สึกอะไรหรือไม่ ที่ผลออกมาเช่นนี้” นายชนินทร์ กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งและต้องทำให้ได้ในระยะสั้นนี้ คือต้องเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแต่ไม่รั่วไหล รวมถึงดูแลผู้มีรายได้น้อยและแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ระยะต่อไปเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ จะต้องชัดเจนเป็นรูปธรรม เดินหน้าได้ทันทีอย่างน้อยไม่เป็นรูปธรรมใน 1-2 ปี แต่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและคนทั่วไป ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคจับจ่ายใช้สอยเงินของผู้ที่มีกำลังจะใช้ออกมา ขณะเดียวกัน ขอให้นายกฯ ลดการเดินสายไปต่างประเทศ ขอให้อยู่ในประเทศตามงานต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน และลดการเดินสายเปิดงานซอฟต์พาวเวอร์ที่ไม่รู้จะได้ผลเมื่อไหร่ ตัวชี้วัดคืออะไร โดยครั้งหลังสุด มีการอนุมัติงบประมาณถึง 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการนี้

นายชนินทร์ กล่าวว่า ส่วนการแจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ตที่ยังมีความไม่แน่นอน กลับไปกลับมา และต้องมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องที่เหมือนเคยพิจารณาไปแล้ว ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง จึงขอแนะนำให้ปรับไปอยู่ในแผน 2 มิฉะนั้นประเทศและประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนในระยะสั้น 3 หรือ 6 เดือนนี้แน่นอน หากมีความไม่แน่นอนต่อไป ประชาชนรากหญ้าตายก่อน จนอาจต้องเปลี่ยนจากการแจกเงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต เป็นแบงก์กงเต๊ก เผาให้ใช้ชาติหน้าแทน