การแข่งขัน “แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” (Africa Muaythai Championships 2024) ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นรอบแรก ของรอบคัดเลือกนักกีฬามวยไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเวิลด์เกมส์ 2025 ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ในปี 2568 มีนักมวยไทย 28 ประเทศของทวีปแอฟริกา ร่วมชิงชัย ซึ่งจัดโดยสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมมือกับ กระทรวงเยาวชนและกีฬาอียิปต์, คณะกรรมการโอลิมปิกอียิปต์, สหภาพแอฟริกามวยไทย และสมาคมมวยไทยอียิปต์ ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 67 ตามเวลาท้องถิ่น โดยมีนายธนบดี จูทอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร, สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA), ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งอียิปต์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาของอียิปต์ และชาติสมาชิกต่างๆ เข้าร่วม

ศึกมวยไทย “แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” เป็นหนึ่งในแผนงานที่ IFMA ดำเนินการเผยแพร่ศิลปะแม่ไม้มวยไทย เพื่อโปรโมตศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย ต่อยอดไปสู่การบรรจุเข้าแข่งขันในศึกโอลิมปิกเกมส์ 2032 ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนมวยไทยซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ให้เผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติตามนโยบายของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ซึ่งนอกเหนือจากการชิงชัยของนักมวยไทย 28 ประเทศของทวีปแอฟริกาแล้ว ประเทศไทยยังนำการแสดงไหว้ครูมวยไทย มวยไทยโบราณ และวงปี่พาทย์มวยไทย ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไทย ไปประกอบการชกให้กับชาวแอฟริกา ได้สัมผัสถึงศิลปะประจำชาติไทยอย่างใกล้ชิด

นายธนบดี จูทอง อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เปิดเผยว่า ดีใจที่มวยไทยของเราได้รับความนิยม โดยเฉพาะปีนี้อียิปต์ได้เป็นเจ้าภาพจัด “แอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024” จึงยินดีมาก มีวงปี่พาทย์มวยไทยมาบรรเลง ประทับใจมาก สถานทูตไทย ณ กรุงไคโร สนับสนุนมวยไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่การผลักดันให้มีการก่อตั้งสมาคมมวยไทยที่อียิปต์ นอกเหนือจากนี้ เราสนับสนุนจัดแสดงกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญสมาคมมวยไทยของอียิปต์ ร่วมโชว์ในกิจกรรมต่างๆ ที่สถานทูตจัดขึ้นดึงดูดความสนใจจากเยาวชนของอียิปต์ได้จำนวนมาก มวยไทยถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นอกเหนือจากอาหารไทยและภาพยนตร์ ในการแข่งขันครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า คนอียิปต์รู้จักประเทศไทยผ่านการนิยมชมชอบศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างมวยไทย

ทางด้าน สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA กล่าวว่า IFMA เล็งเห็นถึงความสำคัญหนึ่งในปัจจัยสำคัญของมวยไทย และสำหรับองค์กรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) คือ สนับสนุนความหลากหลายในมวยไทยโดย IFMA มี 5 สมาพันธ์ทวีป ซึ่งสมาพันธ์มวยไทยแห่งแอฟริกา มีความสำคัญเท่าเทียมกับทวีปอื่นๆ และยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกในปัจจุบัน เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันและมีความเท่าเทียมกัน โดยทวีปแอฟริกาถือว่ามีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และอีกในไม่ช้าจะมีประชาการมากกว่า 2 พันล้านคน หลายประเทศในแอฟริกามีความกระตือรือร้นในด้านการพัฒนากีฬาทั้งมวยไทย, ฟุตบอล, รักบี้, บาสเกตบอล, กรีฑา และอื่นๆ อีกด้วย IFMA ได้ทำงานร่วมกับ สมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา (UCSA) และประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนามวยไทยไปให้ถึงขีดสุด รวมถึงเสริมสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ ส่งเสริมด้านสุขภาพ การบริหารจัดการที่ดี และโปรโมตส่งเสริมด้านวัฒนธรรมให้ทัดเทียมกับการโปรโมตด้านการต่อสู้ นอกจากนี้ยังมีโครงการ “กีฬาสำหรับทุกคน” พร้อมกับการแข่งขันสำหรับผู้พิการ และเด็กพิเศษ ซึ่งความสำเร็จที่ได้นั้น ทำให้มวยไทยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา (UCSA) และสหพันธ์โอลิมปิกแห่งชาติ 54 ประเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับก้าวต่อไปคือ การแข่งขันกีฬาแอฟริกันเกมส์ ต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาของ IFMA

สเตฟาน ฟ็อกซ์ กล่าวต่อว่า IFMA ลงทุนอย่างมากในการอบรมโค้ช อีกทั้งยังสนับสนุนอุปกรณ์ และนักกีฬาให้เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ทวีป และชิงแชมป์โลก โดยในปีนี้ได้จัดการแข่งแอฟริกา มวยไทย แชมเปี้ยนชิพส์ 2024 ครั้งที่ 3 ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ มี 28 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และมีสมาชิกระดับสูงจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC), สภาโอลิมปิกแห่งแอฟริกา และสมาคมสมาพันธ์กีฬาแห่งแอฟริกา (UCSA) เข้าร่วมด้วย เพื่อแสดงถึงความเชื่อถือ และความเคารพที่มวยไทยได้เข้าไปสู่ในทวีปแอฟริกาแล้ว ดังนั้นการทำให้เข้าใจและส่งเสริมมวยไทยให้กลายเป็นศิลปะและวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการให้มีความเข้าใจ และส่งเสริมมวยไทยในฐานะศิลปวัฒนธรรมต่อไป นำไปสู่ความเป็นสากล และการพัฒนาด้านกีฬาเป็นสิ่งสำคัญในยุทธศาสตร์ IFMA และสหภาพมวยไทยแห่งแอฟริกา เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนามวยไทยในแอฟริกา

ขณะที่ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธาน IFMA ซึ่งไม่ได้เดินทางไปร่วมงานเนื่องจากติดภารกิจอยู่ที่ประเทศไทย เปิดเผยว่า IFMA มีความตั้งใจอย่างมาก และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ให้มวยไทยได้รับการบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินของ IOC ซึ่งตอนนี้ยังเหลือระยะเวลาอีกพอสมควรในการเผยแพร่กีฬามวยไทยไปทั่วโลก นอกจากนี้ IFMA วางแผนร่วมมือกับทางรัฐบาลไทยในการผลักดัน “มวยไทย” ในการสร้าง “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่ว่าจะเป็นการมวยไทยโบราณ ดาบสองมือ กระบี่กระบอง และศิลปะมวยไทยโบราณต่างๆ รวมทั้งได้มีการพูดคุยกันในการส่งครูมวยไทยไปสอนแม่ไม้มวยไทยตามประเทศต่างๆ ที่มีความต้องการที่จะเรียนศิลปะแม้ไม้มวยไทย