วันที่ 27 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมลิบง ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดตรัง นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วยนายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง และ นายกฤษณะ สุขอนันต์ พนักงานไต่สวนระดับสูงได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีมีการชี้มูลความผิดตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหา นายกิจ หลีกภัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กับพวก รวม 13 ราย ว่าจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ (ท่าเรือตรัง) ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง มีราคาสูงเกินจริง

จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ในการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวมี 2 ครั้ง ในการจัดซื้อที่ดินครั้งที่ 1 นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้ขออนุมัติต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เพื่อจ่ายขาดเงินสะสม เป็นเงินจำนวน 25,000,000 บาท เพื่อจัดซื้อที่ดินก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ โดยได้มีการชี้แจงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังว่าจะซื้อที่ดินจากนายปรีชา เศรษฐวรพันธุ์ รวมเนื้อที่ 75 ไร่ โดยได้มีการต่อรองราคากับนายปรีชา เศรษฐวรพันธุ์ แล้วในราคาไร่ละประมาณ 330,000 บาท โดยสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังจึงได้อนุมัติให้จ่ายขาดเงินสะสมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 จำนวน 25,000,000 บาท จากการไต่สวนเบื้องต้น ในการจัดซื้อครั้งที่ 1 ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำความผิดทางอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหา ตกไป

ในการจัดซื้อครั้งที่ 2 เป็นการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง นายกิจ หลีกภัย ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้อนุมัติและเบิกจ่ายเงิน เป็นเงินจำนวน 10,500,000 บาท ตามที่ สภา อบจ.ตรัง ได้อนุมัติ

ต่อมา นางปริปัญญา เอียดแก้ว หรือ นางสดใส แซ่อั้ง เจ้าหน้าที่พัสดุ ได้ทำหนังสือเสนอ นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เพื่อตรวจสอบราคาประเมินที่ดินของนายปรีชา เศรษฐวรพันธุ์ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก) เลขที่ 932 เนื้อที่ 7 ไร่ 77 ตารางวา และเลขที่ 934 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สาขากันตัง และในวันเดียวกัน นายกิจ หลีกภัย อาศัยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย นายมณี แป้นน้อย ตำแหน่งผู้อำนวยการกองช่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นประธานกรรมการ นายวสันต์ เครือเพชร ตำแหน่งผู้อำนวยการกองกิจการสภา นายโรม ไชยมล ตำแหน่งนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 นายประยูร ช่อเส้ง ตำแหน่งประชาคม หมู่ที่ 2 ต.นาเกลือ และนายอำนวย บุญฤทธิ์ ตำแหน่งประชาคม หมู่ที่ 2 ต.นาเกลือ และเจ้าของที่ดินมาเสนอราคาต่อคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ

คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ร่วมกันพิจารณาแล้วที่ดินที่จัดซื้ออยู่ในเขตติดต่อกับที่ดิน ที่จะก่อสร้างท่าเรือนาเกลือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เพื่อประโยชน์ของทางราชการและให้การก่อสร้างท่าเรือนาเกลือสามารถดำเนินการไปได้ตามที่กรมเจ้าท่าได้ออกแบบสำรวจ

ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างท่าเรือเป็นไปอย่างถูกต้องสอดคล้องในเชิงพาณิชย์การประกอบการท่าเรือ เห็นควรให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวและจัดทำการซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพื่อก่อสร้างท่าเรือนาเกลือ เสนอ นายกิจ หลีกภัย เพื่อพิจารณาสั่งอนุมัติให้จัดซื้อที่ดิน ที่ได้เสนอขายที่ดินให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 10,201,875 บาท ตามใบเสนอราคา โดยคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ได้ต่อรองราคากับผู้ขายและผู้ขายยินยอมลดราคาลงเหลือเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท โดยพิจารณาจากราคาประเมินของสำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง สาขากันตัง ที่แจ้งว่าจากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่ดินแล้ว ปรากฏว่าที่ดินทั้ง 2 แปลง ราคาแปลงที่ 1 เนื้อที่ 6–0-06 ไร่ ราคาประเมิน 248,100 บาท แปลงที่ 2 เนื้อที่ 7–2-35 ไร่ ราคาประเมิน 324,750 บาท รวมเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา รวม 572,850 บาท ราคาตามท้องตลาดประมาณ 4 ล้านบาท

แต่นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้พิจารณาและอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าว เป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ต่อมาคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่มีนางสุภมาส ศรมณี เป็นประธานกรรมการ โดยมีนางปริปัญญา เอียดแก้ว และนางขวัญตา พุทธให้ ร่วมตรวจสอบที่ดินดังกล่าวด้วย และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มีความเห็นว่า เนื้อที่ดินและเอกสารสิทธิมีความถูกต้องตรงกัน เห็นควรดำเนินการทำนิติกรรมกับผู้ขายตามกฎหมายที่ดินต่อไป เสนอนายกิจ หลีกภัย ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้อนุมัติให้ดำเนินการและอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขาย เป็นเงิน 10,000,000 บาท

โดยในการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมครั้งที่ 2 รวมเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา ปรากฏว่า นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ได้พิจารณาและอนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าว โดยที่นางปริปัญญา เอียดแก้ว ไม่ได้สืบหาราคาซื้อขายของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลังสุด และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษไม่ได้พิจารณาราคาซื้อขายของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างใกล้เคียงบริเวณที่จะซื้อครั้งหลังสุด ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบเปรียบเทียบราคาท้องตลาดว่าเป็นราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงหรือไม่ ไม่ตรวจสอบราคาประเมินของทางราชการว่าราคาที่ดินที่จัดซื้อมีความเหมาะสมเพียงใด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 21 เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ต้องซื้อที่ดินดังกล่าวสูงถึง 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงมาก

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุม ครั้งที่ 128/2566 มีมติว่า การกระทำของ นายกิจ หลีกภัย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิด ฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 79

การกระทำของนางปริปัญญา เอียดแก้ว หรือนางสดใส แซ่อั้ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของนายมณี แป้นน้อย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 นายวสันต์ เครือเพชร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 และนายโรม ไชยมล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

การกระทำของนายปรีชา เศรษฐวรพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11 มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 86

สำหรับนายประยูร ช่อเส้ง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 และนายอำนวย บุญฤทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่า จากการไต่สวนเบื้องต้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นายกิจ หลีกภัย นางปริปัญญา เอียดแก้ว หรือนางสดใส แซ่อั้ง นายมณี แป้นน้อย นายวสันต์ เครือเพชร นายโรม ไชยมล และนายปรีชา เศรษฐวรพันธุ์ ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย กับนางปริปัญญา เอียดแก้ว หรือนางสดใส แซ่อั้ง นายมณี แป้นน้อย นายวสันต์ เครือเพชร นายโรม ไชยมล นายเสงี่ยม จันทร์สุวรรณ และนายธีรนันท์ สุทธินันท์ และได้ส่งสำนวนการไต่สวน และเอกสารหลักฐานพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ กับนายกิจ หลีกภัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทราบด้วย

อย่างไรก็ตาม การไต่สวนคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด สำหรับนายกิจ หลีกภัย ปัจจุบันอายุ 89 ปี เป็นพี่ชายของนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกิจนั้น ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง มายาวนานถึง 25 ปี หรือกว่า 5 สมัย ต่อมามีนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ มาดำรงตำแหน่งต่อจนถึงปัจจุบันนี้

สำหรับท่าเรือนาเกลืออดีตเคยถูกตั้งความคาดหวังไว้ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.ตรัง แต่ในปัจจุบันนี้มีเพียงเรือจำนวนไม่กี่ลำและกี่เที่ยวต่อปีที่ได้เข้ามาขนส่งอยู่ที่ท่าเรือแห่งนี้ ส่งผลทำให้มีรายได้เพียงแค่ไม่กี่บาท ทำให้อบจ.ตรัง ต้องแบกรับภาระในการบำรุงรักษา และดูแลจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากความตื้นเขินของท่าเรือที่เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาเทียบท่าได้ ทำเลและที่ตั้งใน ต.นาเกลือ อ.กันตัง อยู่ห่างไกลและไม่เหมาะสม ประกอบกับว่าผู้บริหารที่เข้ามาดูแลท่าเรือแห่งนี้ไม่มีความชำนาญเท่าที่ควร.