สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ว่า แหล่งข่าวในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวว่า นาโตและพันธมิตรมอบความสนับสนุน “อย่างไม่มีขีดจำกัด” ให้แก่ยูเครน ในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิอันชอบธรรมของรัฐบาลเคียฟ ในการปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม นาโตและพันธมิตร “ไม่มีนโยบาย” ส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปในยูเครน


ขณะที่ผู้นำของนานาประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร ตลอดจนสวีเดน ซึ่งกำลังจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของนาโต พร้อมใจกันออกมาปฏิเสธการส่งทหารเข้าไปในยูเครน แต่จะยังคงมอบความสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ต่อไป


ด้านนายจอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ซึ่งเป็นสมาชิกแกนนำของนาโต กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ชัดเจน” ตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม ว่าสหรัฐไม่มีนโยบายส่งทหารเข้าไปในยูเครน


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพการประชุมกับผู้นำหลายประเทศในยุโรป เกี่ยวกับการเพิ่มการมอบความสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน ที่กรุงปารีส เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นพ้อง การส่งมอบอาวุธที่มีพิสัยทำการระยะกลาง และระยะไกลให้เพิ่มเติม อีกทั้ง “ไม่ปฏิเสธแนวคิด” การส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปในยูเครน เพื่อเป้าหมายของยุโรป ในการป้องกันไม่ให้รัสเซียเป็นฝ่ายชนะสงครามครั้งนี้


นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การแสดงเจตจำนงเตรียมส่งทหารเข้าสู่สมรภูมิยูเครนของสมาชิกนาโต “จะเป็นการเพิ่มองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญเข้าสู่สงคราม” เนื่องจากจะกลายเป็น “สงครามโดยตรง” ระหว่างรัสเซียกับนาโต


รัฐบาลมอสโกทราบดี เกี่ยวกับทรรศนะของผู้นำฝรั่งเศส “ซึ่งต้องการมีชัยชนะทางยุทธศาสตร์เหนือรัสเซีย” หากการปรากฏตัวของทหารจากประเทศสมาชิกนาโตในยูเครน “เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รัสเซียขอให้ประเทศที่ต้องการเข้าร่วม “คิดให้รอบคอบก่อน” ว่า “การเผชิญหน้าทางทหารสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตัวเองจริงหรือไม่”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES