นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซว่า คณะกรรมการ และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานร่วมกันทำงานเต็มที่ ศึกษาความพร้อมรูปแบบการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่ของประเทศไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการร่วมกันใน 3 ด้าน ได้แก่

1.ศึกษาการสำรองปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ของญี่ปุ่น

2.ศึกษาการจัดซื้อจัดหา การกลั่น การส่งออก รวมไปถึงการใช้น้ำมันและก๊าซของประเทศสิงคโปร์

3.ศึกษากำหนดราคาขายน้ำมันส่งออกและที่จำหน่าย การผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการ และการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของประเทศสิงคโปร์อย่างละเอียด เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนงานพัฒนาระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยให้มากที่สุด

ทั้งนี้ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งรัดการเตรียมวางระบบบริหารจัดการและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเป็นห้วงเวลาสำคัญในการลงมือรื้อระบบโครงสร้างด้านพลังงานและสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนต่อไปในอนาคต

ส่วนการแก้ปัญหาของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2511 ซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ประกอบกับครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นที่สิ้นสุด ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการเยียวยาโดยการจ่ายค่าชดเชย รวมทั้งการจัดสรรที่ดินทดแทนไปแล้วบางส่วน แต่ยังคงมีประชาชนที่ยังได้รับความเดือดร้อนและขอความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเนื่องจากรัฐบาลชุดเดิมหมดวาระ ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากการประชุมจะสามารถช่วยเร่งระยะเวลาในการแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้เร็วขึ้น

“กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เรากำลังรวบรวมข้อมูลและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด แต่เนื่องจากเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อและมีความซับซ้อน คณะกรรมการฯ จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนผู้ได้รับผลกระทบที่ยังตกสำรวจอีกกว่า 3,000 ราย โดยจะใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเดียวกันในการสำรวจผู้ที่ตกหล่น ซึ่งได้กำหนดให้ส่งรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 8,970 รายและหลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณามาให้ภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้เพื่อดำเนินการต่อไปอย่างรวดเร็ว”