ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาคมคนรักแม่กลอง นำโดย ดร.อุษา เทียนทอง นายบัณฑิต ป้านสวาท นายคัมภีร์ ทองเปลว และเกษตรกร ประมาณ 200 คน พากันถือป้าย เขียนข้อความเช่น “ความขัดแย้งของคนแม่กลองจะไม่เกิดถ้าจัดการน้ำด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส”, “หน้าแล้งทุกปีชาวสวนแม่กลองขอน้ำจืดเหมือนขอทานขอเศษเงิน” และ ”ชลประทานเก็บน้ำไว้ให้นายทุนไม่เหลียวแลชาวสวน” เป็นต้น มารวมตัวกันที่หน้าศาลากลาง จ.สมุทรสงคราม เข้ายื่นหนังสือต่อนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ผวจ.สมุทรสงคราม เพื่อแสดงความต้องการให้ชลประทานคงจุดวัดน้ำเค็มไว้ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวา ที่เดิม หลังจากมีการย้ายไปที่ปากคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี อ้างว่าการย้ายจุดวัดน้ำเค็มดังกล่าวไป จะทำให้การผันน้ำจืดลงมาน้อยลง น้ำในแม่น้ำแม่กลอง อ.อัมพวา ที่เป็นน้ำกร่อยจะเป็นน้ำเค็ม ส่วนน้ำใน อ.บางคนที จากน้ำจืดจะเป็นน้ำกร่อย ทำให้เกษตรกรชาวสวนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้บริเวณปากอ่าวแม่กลอง ที่มีการเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ต้องการน้ำกร่อย น้ำเค็มจะทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารวัยอ่อนวิบัติ จึงขอให้ทางชลประทานปล่อยน้ำจืดลงมาในแม่น้ำแม่กลองให้มากพอกับการดำเนินชีวิตของคนท้ายน้ำ โดยไม่ต้องร้องขอเป็นครั้งคราว มีนายศิริศักดิ์ นายกรกฏ วงษ์สุวรรณ รอง ผวจ.สมุทรสงคราม และผู้เกี่ยวข้องลงมารับหนังสือ

ดร.อุษา เทียนทอง กล่าวว่า ปัจจุบันลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลุ่มน้ำสำคัญที่มีปริมาณน้ำเพียงพอกับการจัดสรรให้คนในลุ่มน้ำได้มีน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอ และยังสามารถส่งไปช่วยนอกพื้นที่ด้วย เช่น การผันน้ำไปผลักดันน้ำเค็มในลุ่มน้ำท่าจีน ผันน้ำผ่านคลองประปาฝั่งตะวันตก ให้การประปานครหลวงผลิตน้ำประปาให้กับคนกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศส่งผลให้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน เกิดน้ำเค็มหนุนสูง รวมถึงเกิดน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองหลายครั้ง เช่นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2559 ปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองตายกว่า 40 ตัว จากการรั่วไหลของโรงงานผลิตเอทานอล ขณะที่น้ำเสียจากฟาร์มหมู ก็กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหอยในหลายพื้นที่

ดร.อุษา กล่าวว่าจากการติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ภาคประชาชนจึงขอเข้าพบ ผวจ.สมุทรสงคราม เสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อแก้ไขอย่างรวดเร็ว จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพูดคุยหาทางออก แต่สำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ได้เข้ามาชี้แจงที่ประชุมฯ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 67 ถึงสถานการณ์ที่นํ้าเค็มกระจายตัวสูงขึ้นในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ว่า ทางกรมชลประทานได้ควบคุมความเค็มและปล่อยนํ้าจากเขื่อนแม่กลองมาให้ เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่ปากคลองดำเนินสะดวก รวมถึงเพิ่มการระบายให้ในช่วงที่ จ.สมุทรสงคราม มีน้ำเค็มขึ้นสูงมาโดยตลอด

จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าไม่ตรงกันระหว่างสำนักงานชลประทานที่ 13 กับโครงการชลประทานสมุทรสงคราม ที่ประกาศในเว็บไซต์ของโครงการชลประทานสมุทรสงคราม ถึงจุดควบคุมความเค็มไม่ให้เกิน 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวา แต่มีการย้ายจุดวัดน้ำเค็มไปที่ปากคลองดำเนินสะดวก ซึ่งห่างกันประมาณ 20 กม. ซึ่งจะมีผลต่อการระบายน้ำในการควบคุมระดับความเค็มที่เกิดผลกระทบเช่นปี 2523 ผลผลิตการเกษตรของ จ.สมุทรสงคราม ต้องถูกแช่อยู่ในน้ำเค็มเวลานาน และจากการที่เขื่อนไม่ปล่อยน้ำจืดมาเพื่อควบคุมระดับความเค็มในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม แต่คำนึงถึงการควบคุมค่าความเค็มในพื้นที่ปากคลองดำเนินสะดวก ทำให้ค่าความเค็มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ส่งผลให้วิถีชีวิตการประกอบอาชีพของชาวสมุทรสงคราม หากให้มีการขยับจุดควบคุมความเค็มดังกล่าว

ดร.อุษา กล่าวว่า นอกจากนี้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อการบริโภคของคนกรุงเทพฯ โดยการประปานครหลวงแต่จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการพบว่า ผู้รับผิดชอบยังไม่มีแผนการจัดสรรน้ำในสภาวะการณ์ที่สังคมมีความต้องการใช้น้ำที่หลากหลาย จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดสิทธิพื้นฐานโดยพัฒนาข้อมูลพื้นฐานอันชัดเจน สร้างเกณฑ์การจัดสรรที่เป็นธรรมและริเริ่มองค์กรกำกับดูแลอันเป็นที่ยอมรับ เพื่อเข้ารับผิดชอบจัดการปัญหาดังกล่าวเป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ในส่วนเกณฑ์การจัดสรรคณะกรรมาธิการเห็นว่าสิทธิใช้น้ำของประชาชนในลุ่มน้ำแม่กลองต้องได้รับการยอมรับและรับรองให้มีสิทธิเหนือกว่าการใช้น้ำของคนกรุงเทพฯ โดยการผันน้ำจากกลุ่มนี้ให้กระทำได้เฉพาะส่วนที่เหลือและต่อการใช้น้ำของประชาชนในลุ่มน้ำ

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาคือการเปลี่ยนจุดวัดความเค็มจาก อ.อัมพวา ไป อ.ดำเนินสะดวก ไกลกว่าจุดเดิมถึง 20 กม. ทําให้พื้นที่ช่วงรอยต่อ ระดับความเค็มต้องเปลี่ยนไปแน่นอน เรื่องนี้จู่ๆ ก็มาปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลองครั้งล่าสุด โดยไม่ทราบว่าเป็นคำสั่งจากใคร คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม จึงยื่นเรื่องคัดค้านไปทันทีและถามถึงเหตุผลที่มาแต่ก็ไม่ได้คำตอบจนถึงทุกวันนี้ จึงให้โครงการชลประทานสมุทรสงครามส่งหนังสือทักท้วงไปอีก อย่างไรก็ตาม จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพูดคุยหาทางออกแล้วและจะติดตามต่อไป เพราะการย้ายจุดวัดน้ำเค็มแบบนี้ อยากจะถามแทนชาวบ้านว่าท่านไม่คิดบ้างเหรอว่าชาวสมุทรสงครามจะเดือดร้อนอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

จากนั้นกลุ่มประชาคมคนรักแม่กลองก็ได้พากันขึ้นรถตู้ 2 คัน มุ่งหน้าเข้า กทม. เพื่อนำหนังสือร้องเรียนฉบับนี้ไปยื่นให้กับอธิบดีกรมชลประทาน และกรรมาธิการสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อีกด้วย