นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิด “มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดมุกดาหาร” ระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์–3 มีนาคม 2567 ณ ลานหน้าศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร หวังกระตุ้นการค้าชายแดน ขยายมูลค่า ยกระดับศักยภาพและการอำนวยความสะดวกของด่านชายแดน โดยการจัดงานครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เลือกจังหวัดมุกดาหารเป็นหนึ่งในจังหวัดที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนในปี 2567 ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนสอดคล้องนโยบายรัฐบาลในการเปิดประตูการค้าชายแดน 4 ด้าน 4 ประเทศ ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าชายแดนและผ่านแดนจังหวัดมุกดาหารมีมูลค่ารวมประมาณ 340,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 จะมีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนด้านจังหวัดมุกดาหารเพิ่มมากขึ้น จากความพร้อมของศูนย์บริการ OSS ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ

นายนภินทร เปิดเผยว่า “รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณจังหวัดชายแดน โดยจังหวัดมุกดาหารเป็นหนี่งในจังหวัดชายแดนที่เป็นหัวเมืองสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน โดยมีเส้นทางขนส่งทางถนนที่สำคัญ คือ เส้นทาง R9 และยังเป็นจังหวัดที่มีจุดผ่านแดนซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญที่เป็นประตูการค้าไปสู่ สปป.ลาว และประเทศที่สาม คือ จุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 2 เป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งสินค้าชายแดนและผ่านแดน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศที่มีนโยบายในการเร่งรัดผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดนและผ่านแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านการจัด “มหกรรมการค้าชายแดน””

ในปี 2567 การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดมหกรรมการค้าชายแดน ครั้งแรกของปี 2567 ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 7 หน่วยงาน คือ กรมการค้าต่างประเทศ จังหวัดมุกดาหาร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับกิจกรรมหลักภายในงานจะประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ (1) การแสดงและจำหน่ายสินค้าของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 120 คูหา อาทิ อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักสาน และผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชน และยังมีคูหาให้คำปรึกษาด้านการเงินระหว่างประเทศจาก 3 ธนาคารชั้นนำของไทย คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SMEs Bank) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (2) การเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการการค้าชายแดนกับผู้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (3) การสัมมนา “ใช้ AI ช่วยค้า กำไรมาทันใจ” โดยวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำตลาดออนไลน์จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ (4) การประชุมติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดนครพนม การติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ OSS มุกดาหาร พร้อมทั้ง การติดตามสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากจีนผ่านด่านมุกดาหาร ณ คลังสินค้าเร่งด่วน เพื่อติดตามกระบวนการนำเข้า และตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บริโภค

“การจัดมหกรรมการค้าชายแดนในครั้งนี้ รวมทั้ง ความพร้อมการเปิดบริการของศูนย์ OSS ทั้งสองแห่ง ทั้งที่จังหวัดนครพนมและมุกดาหาร เพื่อรองรับการส่งออกผลไม้ในฤดูกาลอันใกล้นี้ จะเป็นส่วนขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียง อันจะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ตลอดจนเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนไทยกับ สปป.ลาวให้เพิ่มมากขึ้น”