เมื่อเวลา 14.40 น. วันที่ 29 ก.พ. ที่ ห้องพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนได้รวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับแก่บุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดมายังราชอาณาจักรไทย ในคดีพิเศษที่ 127/2566 ทั้งสิ้น 9 หมายจับ อันประกอบด้วย 5 หมายจับบุคคลทั่วไป คือ 1.นายประกร มหากิจโภคิณ 2.น.ส.ชนิสรา มหากิจโภคิณ 3.นายกิตติ ราชเนตร 4.นายภูวดล เกลียวจยกูล 5.นายพลภัทร สุขหน้าไม้ และหมายจับนิติบุคคล 4 หมายจับ ได้แก่ 1.บริษัท พีซี ฟูดส์ เซ็นเตอร์ จำกัด 2.บริษัท มั่นคง โฟรเซ่น จำกัด 3.บริษัท โคลเวอร์ซัพพลาย จำกัด 4.บริษัท โปรดักส์-มี จำกัด โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ชุดศูนย์สืบสวนสอบสวนและการข่าว ดีเอสไอ ได้ติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 2 ราย คือ นายประกร และนายพลภัทร ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยก่อนเข้าสอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 5 รายที่ได้มีการออกหมายจับ คือ กลุ่มที่นำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์แช่แข็ง และยังเป็นการใช้ระบบเขตปลอดอากร (Free Zone) ซึ่งในกลุ่มนี้จะยังมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยดีเอสไอพบจากบัญชีรายจ่ายที่กลุ่มผู้ต้องหามีการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งแบบรายเดือนและแบบรายตู้ มีทั้งการจ่ายแบบเงินสดและโอนเข้าบัญชีธนาคาร รวมทั้งพบว่ายังมีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายส่วนเพื่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเราจะต้องไปขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมว่ากลุ่มคนที่มีรายชื่อรับเงินจากผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจริงหรือไม่ ส่วนยอดเงินที่กลุ่มผู้ต้องหาจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ (เจ้าหน้าที่ศุลกากร) พบว่ามีการจ่ายแบบรายตู้ผ่อนผัน ตกตู้ละ 20,000 บาท ซึ่งดีเอสไอตรวจค้นบริษัทของกลุ่มผู้ต้องหาพบว่ามีจำนวน 33 ตู้ จ่ายไปแล้ว 660,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายเงินให้โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากร เดือนละ 30,000 – 50,000 บาท และยังมีการจ่ายให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ถูกระบุว่าเป็นหน้าห้องด้วย ซึ่งเราจะสอบสวนขยายผลให้หมดทั้ง 2 หน่วยงาน (กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร) และจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อดูว่ามีใครร่วมกระทำความผิดอีก

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า กลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้บริษัทของตัวเองในเครือทั้ง 4 บริษัทนำเข้าตู้คอนเทเนอร์มาก่อนแล้ว โดยดูจากผลการตรวจค้นบริษัทฯ ในเขตปลอดอากร PM FREE ZONE มีการนำสินค้าประเภทซากสัตว์ประเภทสุกร เครื่องในโค ตีนไก่ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 31 ม.ค.67 รวมเป็นจำนวน 3,469 ตู้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้สิทธิด้านภาษีอากรโดยให้บริษัทที่เป็นเครือข่ายนำเข้ามาและอ้างว่าได้โอนให้กันเพื่อใช้สิทธิด้านภาษีอากรขาเข้า และเมื่อนำเข้ามาแล้ว กลับไม่ได้ทำการผลิตใหม่ตามที่กรมศุลกากรกำหนด จากนั้นนำออกจากเขตปลอดอากร PM FREE ZONE เข้าไปจำหน่ายในประเทศไทยให้กับบริษัทจำหน่ายอาหารสดในประเทศไทย จากนั้นนำมาขอลดอากรทำให้เกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร เฉลี่ยประมาณตู้ละ 400,000 บาท หากนำมาคูณกับจำนวนตู้สินค้าจำนวน 3,469 ตู้ จะพบว่าเกิดความเสียหายด้านภาษีศุลกากร จำนวน 1,387,600,000 บาท ซึ่งเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งเราจะใช้สอบถามผู้ต้องหาว่าที่มีการนำเข้าตู้นั้นมันเกี่ยวข้องอย่างไรบ้างและมีวิธีการขั้นตอนนำเข้าอย่างไร

“การนำเข้าตู้คอนเทเนอร์ของกลุ่มผู้ต้องหาถือว่าทำอย่างผิดกฎหมาย แม้จะผ่านพิธีการศุลกากร แต่ไม่มีการเสียภาษีเพราะนำเข้าเขตปลอดอากร (Free Zone) และทำกระบวนการขอยกเว้นภาษี ทำให้รัฐขาดรายได้ตามที่ตนเรียนแจ้งไปข้างต้น ซึ่งเราจะไปดูว่ามันมีกี่ตู้ที่กลุ่มผู้ต้องหาใช้กระบวนการดังกล่าว เพื่อจะได้ประสานกับกรมศุลกากรต่อไป นอกจากนี้ กลุ่มผู้ต้องหายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 90 ตู้ที่ตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง ได้รับแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ด่านแหลมฉบัง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร โดยกลุ่มของผู้ต้องหาเข้าไปเกี่ยวข้อง 25 ตู้ ซึ่งทางตำรวจก็ได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอเพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกัน” พ.ต.ต.ณฐพล ระบุ.

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุด้วยว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร โดยมีพฤติกรรมเอื้อให้กลุ่มผู้ต้องหาสามารถประกอบธุรกิจได้ง่าย ทั้งนี้ แนวทางการพิจารณาให้ประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนหรือไม่นั้น เราจะต้องดูจากการให้ความร่วมมือให้ถ้อยคำชี้แจงของกลุ่มผู้ต้องหาว่าเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีหรือไม่ และจึงจะเสนอผู้บังคับบัญชา (รรท.อธิบดีดีเอสไอ) โดยถ้าหากได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาจะต้องใช้หลักทรัพย์วงเงิน 200,000 บาทเท่ากันหมด

สำหรับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผู้ต้องหานั้น พ.ต.ต.ณฐพล อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนผันให้กลุ่มผู้ต้องหานำตู้เข้ามาในไทย หรือการรับจ่ายเงินเป็นรายเดือนและรายตู้ ก็ถือเป็นการทุจริต โดยจากการตรวจสอบ เราพบว่าเจ้าหน้าที่ที่รับเงินเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองหน่วยงาน (กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร) โดยมีตำแหน่งสูงกว่าตำแหน่ง ผอ. เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับ C9 รวมๆแล้วพบว่ามีจำนวนหลายสิบรายที่รับเงินจากกลุ่มผู้ต้องหา

ทั้งนี้ พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 รายที่เหลือ ได้แก่ 1.น.ส.ชนิสรา มหากิจโภคิณ 2.นายกิตติ ราชเนตร และ 3.นายภูวดล เกลียวจยกูล เตรียมเข้ามอบตัวในวันพรุ่งนี้ แบ่งเป็น รอบเวลา 09.00 น. น.ส.ชนิสรา และรอบเวลา 13.00 น. เป็นนายกิตติ และนายภูวดล เข้าให้ปากคำ.