เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่กระทรวงแรงงาน ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 (กรรมการไตรภาคี) เพื่อพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 โดย นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม พร้อมกล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องมีเวลาประชุมพอสมควร ซึ่งจะมีการหารือ เจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งจากตัวเลขที่เสนอมาจากอนุวิชาการ เฉลี่ยขึ้นประมาณ  3.26% ของค่าจ้าง บางจังหวัดขอขึ้น 18 บาทก็มี ในส่วนของจังหวัดที่ไม่ขอเพิ่มนั้น แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งจะทราบในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ เพื่อเสนอครม.ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่

ทั้งนี้หลักการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องยอมรับว่ามีบางจังหวัดไม่ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ เพราะยังตกลงกันไม่ได้  เช่น ภูเก็ตมีอัตราค่าจ้างสูง แต่ถ้าไปดูเงินเฟ้อ หรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่เราคิดได้ หรือบางจังหวัดที่เป็นจังหวัดเล็ก อัตราเงินเฟ้อไม่มาก แต่ขอปรับค่าจ้างสูงก็ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผลการประชุมจะเคาะตัวเลขออกมาเท่าไหร่ก็ขอให้รอหลังประชุม  

ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้เข้าห้องก่อนเริ่มการประชุม โดยกล่าวว่าถึงการเข้ามาโดยยืนยันว่าไม่มีการแทรกแซง หรือชี้นำเรื่องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่อย่างใด ขอให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งที่จริงตนก็แทรกแซงไม่ได้ แต่มาแนะนำตัวครั้งแรก ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม  ทราบว่า มี 5 จังหวัดที่ไม่ขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย 1 ในนั้นคือจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะมีการปรับในทุกจังหวัดมากน้อยแตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ ให้เกิดสมดุลและรักษาการจ้างงานด้วย โดยเฉพาะในกลุ่ม sme  สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะมีจังหวัดใดได้ปรับขึ้นถึง 400 บาทหรือไม่เป็นเรื่องของคณะกรรมการไตรภาคี.