ผ่าน 8 วิสัยทัศน์สำคัญ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เทคโนโลยี และการเงิน โดยตั้งเป้าให้ไทยก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค

หนึ่งใน 8 วิสัยทัศน์ที่ว่า…ยังหมายถึงการตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก ภายในปี 73 ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องระดมสมองเพื่อหาทางตอบโจทย์ของผู้นำประเทศ โดยการระดมสมองครั้งนี้ก็เพื่อกลั่นกรองแผนการทั้งหมดออกมาให้เป็นรูปธรรมเพื่อเสนอให้นายเศรษฐาพิจารณาในราว ๆ กลางเดือน มี.ค.นี้ ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป เช่นเดียวกับการประกาศแผนฮับการบินเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา

4 แนวทางเพิ่มรายได้

หัวข้อของการระดมสมองเพื่อยกระดับรายได้ในเรื่องของการท่องเที่ยว มีทั้ง 1.การยกระดับเมืองหลักเมืองรอง ชูซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละจังหวัด เพื่อพัฒนาทุกจังหวัดเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งแนวคิดของนายกรัฐมนตรีต้องการพัฒนาให้ทุกจังหวัดเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสามารถเพิ่มรายได้ และเพิ่มการจ้างงานจากภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ 

2.การผลักดันประเทศไทยเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ให้เกิดเทศกาลระดับโลก ซึ่งข้อเสนอที่จะเสนอให้รัฐบาลจะมีเรื่องของการยกระดับการทำโครงสร้างพื้นที่รองรับการจัดอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ โดยอาจมีการลงทุนเพิ่มของภาครัฐหรือภาคเอกชน หรือร่วมกันในลักษณะการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเมื่อมีความพร้อมในเรื่องนี้มั่นใจว่าจะมีอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตขนาดใหญ่มาจัดในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งในภูมิภาคนี้เราต้องแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ 

3.การผลักดันให้มีวัน วีซ่า ฟรี ของภูมิภาคอาเซียน เหมือนที่สหภาพยุโรป (อียู) ที่ใช้วีซ่าเชงเก้นเข้าได้ทุกประเทศในอียู เพื่อสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากไทยไปอียู  และ 4.การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวเพื่อเอื้อให้ผู้จัดงานระดับโลกสามารถเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย และส่งเสริมแนวคิดประเทศไทยจะไม่หลับใหล

ขนทัพลงพื้นที่ดูของจริง

ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนจะดำเนินการใด ๆ นายกฯ เศรษฐา ก็ยกทีมที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 20 ปีที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนที่ลงพื้นที่ในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมีเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการยกระดับให้ทั้ง 3 จังหวัดกลายเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เมืองรองเท่านั้น

ด้วยเพราะเชื่อว่าทั้งศักยภาพ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามมีอยู่ดาษดื่นในทั้ง 3 จังหวัด ล่าสุดเมื่อปี 66 ที่ผ่านมา พบว่าใน 3 จังหวัด มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวรวม ๆ กันแล้วกว่า 2.88 ล้านคน โดยยะลาครองแชมป์ มีนักท่องเที่ยวถึง 1.65 ล้านคน แยกเป็นคนไทย 1.02 ล้านคน ต่างชาติ 631,191 คน มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 72.13% การใช้จ่ายเฉลี่ย 5,115 บาทต่อคนต่อทริป รองลงมาคือ นราธิวาส มีนักท่องเที่ยวรวม 791,999 คน เป็นคนไทย 385,146 คน ต่างประเทศ 4.06 แสนคน มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 55.96% การใช้จ่ายเฉลี่ย 3,180 บาทต่อคนต่อทริป ส่วนที่ปัตตานี มีนักท่องเที่ยว 442,382 คน เป็นคนไทย 341,890 คน ต่างชาติกว่า 1 แสนคน มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 48.22% ใช้จ่ายเฉลี่ย 1,468 บาทต่อคนต่อทริป

มาเลย์แชมป์เที่ยวใต้

ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชาวมาเลย์ ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะมีชายแดนที่ติดกับไทย เดินทางง่ายสะดวก และอีกสารพัดเหตุผล รองลงมาคือ อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และอินเดีย โดยอำเภอเบตงเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชื่นชอบอาหารและธรรมชาติ แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนห้องพัก ขณะที่เมื่อมีการยกเลิกการกรอกแบบฟอร์มตรวจคนเข้าเมืองหรือ ตม.6 ชั่วคราว ที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลและวันหยุด ส่วนจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะมีเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ต้องใช้วิทยายุทธไม่น้อยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ว่ามาเที่ยวได้อย่างปลอดภัย นี่ถือเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ

การเดินทางมาเยือนของคณะนายกฯ เพื่อให้เห็นของจริงพื้นที่จริง ศักยภาพจริง ๆ ของดีสารพัด เพื่อนำไปจัดวางแผน เพิ่มศักยภาพใหักับพื้นที่ภาคใต้ สร้างโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งเรื่อง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สาธารณูปโภค การเข้าถึงพื้นที่ท่องเที่ยว และเพิ่มทักษะการบริการให้กับคนในพื้นที่ ยกระดับมาตรฐาน อัปเกรดขึ้นมาอีกขั้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต 

อัญมณีเม็ดงามมีมาก

ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีเอง ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่ง เช่น มัสยิดกรือเซะหรือมัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ ซึ่งเป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 450 ปี ที่จะสามารถส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมนำชมและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติและความสำคัญของมัสยิด โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งจัดทำป้ายสรุปประวัติและความสำคัญของมัสยิดเป็นภาษาไทย มลายู และอังกฤษ 

รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวเส้นทางชมจุดไฟไลต์ อัป ตามแลนด์มาร์คสำคัญอย่างมัสยิดกลางปัตตานี ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ถนนย่านเมืองเก่า ชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนหัวตลาด สะพานเดชานุชิต (สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) หอนาฬิกา พร้อมกิจกรรมนั่งรถรางชมเมืองปัตตานียามค่ำคืน เพื่อสร้างความสวยงามเชิงภูมิทัศน์ยามค่ำของเมืองซึ่งจะเป็นการสร้างประสบการณ์และความประทับใจของนักท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดการพักค้าง จะนำไปสู่รายได้ทางการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียว

ยะลาแชมป์ นทท.เยอะสุด

ในขณะที่จังหวัดยะลา ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมากที่สุดนั้น ยังสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้มากกว่าที่ผ่านมา ด้วยเพราะมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง อย่างเช่น สกายวอล์ก อัยเยอร์เวง ซึ่งเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกในรูปแบบสกายวอล์กที่ยาวที่สุดในโลก วิวที่มองลงไปจะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าฮาลา-บาลา ทะเลสาบเขื่อนบางลา และบ่อปลานิลน้ำไหล ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ของดีเมืองเบตงที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่นทั้งระบบการเลี้ยงแบบน้ำไหลจากที่ราบสูง อุณหภูมิที่ในระดับ 18-24 องศาเซลเซียส จึงถือว่าเป็นข้อได้เปรียบแตกต่างจากที่อื่น 

จัดสารพัดแคมเปญหนุน

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ก็ได้วางแผนส่งเสริมการตลาดผ่าน 3 แคมเปญ ทั้ง โครงการ อเมซิ่ง เฮลลิ้ง พาวเวอร์ ออฟ ดีป เซาต์, โครงการเที่ยวนี้มีรักษ์ @นรา ยะลา ตานี, โครงการเอ็กพลอร์ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี 3 จังหวัด ไม่ไป-ไม่รู้ ขณะเดียวกันยังรวมถึงการกระตุ้นการเดินทางกับสายการบินในประเทศ จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรองหรือเมืองหลักเชื่อมโยงเมืองรองหรือแม้แต่การจัดงานส่งเสริมการขายอย่าง “อเมซิ่ง ไทยแลนด์เที่ยวดี-ของเด็ด 3 จังหวัดชายแดนใต้” และการส่งเสริมการท่องเที่ยวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างต่อเนื่องภายใน  “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2567” วันที่ 28 มี.ค.–1 เม.ย. 67 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งหลายทั้งปวง…ต้องมารอดูว่าเป้าหมายที่จะไต่ระดับขึ้นไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดจะสำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด!!.

เชื่อเกิดแรงกระตุ้นมากขึ้น

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกว่า เป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยว และการเดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น ถือเป็นหมุดหมายที่สร้างความเชื่อถึงความปลอดภัยในพื้นที่ที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไปในพื้นที่สามจังหวัดของนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้นนอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่แต่เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่ต่ำ ดังนั้นในฐานะประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงอยากเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในสามจังหวัดแบบกลุ่มทัวร์ โดยการเช่ารถตู้หรือรถบัส เพื่อที่จะเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้กับคนกลุ่มนี้

ขณะเดียวกันเรื่องของอาหารฮาลาลถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งแต่ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับก่อนที่รัฐบาลยกเลิก ตม.6 ของด่านสะเดา จ.สงขลา เพราะการเดินทางที่สะดวกกว่า ดังนั้นเพื่อเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่รัฐบาลควรที่จะยกเลิกด่านชายแดนเขตอำเภอเบตงเพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นจากมาตรการอำนวยความสะดวกนี้ด้วย

ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้พูดว่า การได้มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้สัมผัสด้วยตัวเองว่าบรรยากาศสบาย ๆ เหมือนไปเชียงใหม่ ที่สำคัญคือมีรอยยิ้มของคนในพื้นที่ซึ่งมีความหมาย เห็นแล้วรู้สึกได้เลยว่าต้องการให้นักท่องเที่ยวมาจริง ๆ สร้างความประทับใจ มีรอยยิ้มที่จริงใจ มีเสน่ห์ของพหุวัฒนธรรมที่จะยกระดับพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งเรื่อง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สาธารณูปโภค การเข้าถึงพื้นที่ท่องเที่ยว และเพิ่มทักษะการบริการให้กับคนในพื้นที่ ยกระดับมาตรฐาน อัปเกรดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตเป็นจำนวนมาก 

ทั้ง 3 จังหวัดคือปัตตานี ยะลา นราธิวาส นายกฯ ให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องอาหาร วัฒนธรรม  สินค้าที่กำลังจะเป็นสินค้าจีไอ ได้แก่ ปลานิลน้ำไหล ปลาพลวงชมพู รสชาติอร่อยมาก ไก่เบตง ส้มโชกุน ปลากุเลาตากใบ สิ่งเหล่านี้ต้องผลักดัน และต่อไปนี้ไม่อยากให้ใช้คำเรียกคนในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะเวลาที่ค้นหาในออนไลน์จะเจอแต่เรื่องด้านลบทั้งของไทยเองและชาวต่างชาติ จึงอยากให้ใช้คำว่า สุขทันทีที่เที่ยวยะลา สุขทันทีที่เที่ยวปัตตานี สุขทันทีที่เที่ยวนราธิวาส สุขทันทีที่เที่ยวเบตง เป็นต้น”    

ปลานิลน้ำไหลเพิ่มมูลค่า

สันติชัย จงเกียรติขจร” เจ้าของบ่อปลานิลสายน้ำไหล เล่าว่า ปลานิลน้ำไหล รสชาติและเนื้อปลาไม่มีกลิ่นคาว ไม่มีกลิ่นโคลน แถมยังเนื้อแน่น เพราะระบบเลี้ยงแบบสายน้ำไหลธรรมชาติจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำซึ่งและสภาพภูมิอากาศที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยการรักษาคุณภาพปลาไม่ให้มีกลิ่นคาว กลิ่นโคลนจะต้องเลี้ยงในน้ำอุณหภูมิ ไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส ไม่อย่างนั้นจะเกิดตะไคร่น้ำ ส่งผลต่อคุณภาพปลาตามด้วย จึงทำให้ปลานิลน้ำไหลของ ต.ตาเนาะแมเราะ แตกต่างจากที่อื่น ๆ ซี่งราคาขายเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 300 บาท ถึงหลัก 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดปลา 

ทั้งนี้ทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิลได้ยื่นหนังสือนําเสนอให้ “ปลานิล-เบตง” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แล้วในช่วงที่นายกฯ ลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมที่บ่อปลา เพื่อให้ปลานิลในพื้นที่เชิงเขาสันกาลาคีรี เป็นที่รู้จักในระดับโลกและเพิ่มมูลค่าทางการค้าต่อไป ขณะเดียวกันระหว่างทำเรื่องยื่นจดทะเบียนจีไอนั้น ตนได้แยกบ่อเลี้ยงปลานิลเพื่อจดทะเบียนจีไอไว้ 4 บ่อ แยกจากบ่อที่ขายทั่วไปให้กับนักท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว 7 บ่อ ซึ่งปลานิล-เบตง นี้ถือได้ว่าเป็นของดีของจังหวัดยะลา และยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้เป็นจำนวนมาก หากเกษตรกรสามารถดำเนินการได้ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพ เพิ่มแรงดึงดูด และยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เรียกให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ