เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ จ.อุดรธานี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน ว่า ภาพรวมถือเป็นเรื่องดี แต่ต้องคิดว่าทำเพื่อใคร ถ้าทำให้แค่นายทุนและชาวต่างชาติ มีคนมาลงทุนมากมาย แต่ไม่เคยไหลลงมาสู่แรงงานไทย หรือคนในพื้นที่ไม่มีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน ส่วนที่นายกฯ ตั้งเป้าให้สนามบินสุวรรณภูมิ ติด 1 ใน 20 อันดับของโลกนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องดีเช่นกัน และน่าจะทำได้ แต่เท่าที่เคยประชุมกับสมาคมสายการบินต่างๆ พบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียเส้นทางสายการบินไปให้สิงคโปร์ อยู่ที่การบริหารจัดการ การทูตเชิงรุก ที่จะทำให้สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) กลับมาอยู่ที่ไทย ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรามีสนามบินเยอะๆ แล้วจะกลายเป็นศูนย์กลางด้วยปริมาณ เพราะต้องมีการลงรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีคำวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่แผ่วลง นายพิธา กล่าวว่า ไม่แผ่ว แต่เรามองเป็นยุทธศาสตร์ ขอเน้นคุณภาพมากกว่าความเร็ว ไม่ได้หมายความว่า สว. อภิปรายแล้ว เราต้องอภิปรายบ้าง ต้องดูข้อมูล การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไป 1 ปี มีแค่อย่างละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เราต้องออกอาวุธเมื่อมีประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ตอนที่โดนเร่งเร้าให้ใช้ หากมีเรื่องอภิปรายที่สำคัญ ก็กลับมาใช้สิทธินั้นไม่ได้แล้ว

เมื่อถามถึงแนวโน้มที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ นายพิธา กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ทั้งการอภิปรายทั่วไปและอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากตอบตรงๆ เขาก็รู้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือน นายพิธา กล่าวว่า ในใจตนอยากให้รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาประเทศให้มากขึ้น ข้อดีที่เห็นอยู่ คือ เรื่องการต่างประเทศที่ช่วยวิกฤติสงครามในอิสราเอล แต่เข้าใจว่าขณะนี้ยังมีคนอุดรธานีติดอยู่ที่นั่น ประมาณ 7-8 คน จึงขอฝากนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ ติดตามเรื่องนี้ให้กับพี่น้องชาวอุดรธานีด้วย

เมื่อถามถึงกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่ 1 ที่เดินทางทวงถามเรื่องกฎหมายค้างหลายฉบับ ที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้มีบางคนในรัฐบาล ออกมาติงว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม นายพิธา กล่าวว่า ไม่เหมาะสมตรงไหน เพราะเท่าที่ติดตามข่าว ก็มีการถามว่า “เหมาะสมหรือไม่ ถ้าประสาน ก็มีคนต้อนรับแล้ว” ซึ่งคำตอบที่ได้ยินต่อมาคือ ประสานไป 2 ครั้ง โดยทำหนังสือไปที่เลขาธิการนายกฯ ในวันที่ 7 และ 21 ก.พ. ถูกหรือไม่ จึงไม่เข้าใจว่าที่ไม่เหมาะสมคืออะไร เพราะหากเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง กฎหมายบางฉบับยื่นไปให้เซ็นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งมีกฎหมายของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งวาระทางนิติบัญญัติ ถ้ารวดเร็ว ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่สภาอย่างเดียว แต่อยู่ที่รัฐบาลและข้าราชการ ที่กฎหมายเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ก็ไม่ทราบว่าไม่เหมาะสมตรงไหน ขอคำอธิบายจากรัฐบาลด้วย.