นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพัฒนาพื้นที่โดยรอบโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีทัศนียภาพที่ร่มรื่นสวยงาม พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น จึงนำนโยบายดังกล่าวแปลงไปสู่การปฏิบัติติภายใต้แนวคิด ”คมนาคมสีสัน สร้างสรรค์ประเทศไทย” โดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ 2 ฝั่งถนน, เขตทางรถไฟ และท่าเรือให้สวยงาม และปลอดภัยในการสัญจร โดยได้พัฒนาปรับปรุงทั่วประเทศ 793 โครงการ งบประมาณรวม 1,517 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีหลายโครงการได้แล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการแล้ว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการต่างๆ มี 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กรมทางหลวง (ทล.), กรมเจ้าท่า (จท.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมทัศนียภาพทางถนนของ ทล. เพื่อเพิ่มความสวยงามร่มรื่น 2 ฝั่งทางหลวง ด้วยพันธุ์ไม้ประจำถิ่น สร้างเอกลักษณ์ของเส้นทาง และแลนด์มาร์คใหม่ในการเดินทางและการท่องเที่ยว โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ รวม 767 โครงการ วงเงินลงทุน 779 ล้านบาท โดยระยะที่ 1 ใช้งบประมาณบำรุงปกติ ปี 65 จำนวน 137 โครงการ วงเงินรวม 279 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน คือ แผนงานปรับภูมิทัศน์ริม 2 ข้างทาง จำนวน 20 สายทาง วงเงิน 39.99 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ใช้งบประมาณบำรุงปกติ ปี 66 จำนวน 630 โครงการ วงเงินรวม 500 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการเริ่ม ต.ค. 2565 คือ แผนงานเพิ่มศักยภาพจุดพักรถบรรทุก จำนวน 40 จุด, แผนงานปรับปรุงหมวดทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 584 แห่ง เพื่อเป็นจุดบริการและแวะพักของประชาชนที่ขับรถทางไกล นอกจากนี้ยังมีโครงการส่งเสริมทัศนียภาพทางถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับพื้นที่ และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีแผนดำเนินการ 2 โครงการ ในเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว โดยไม่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากใช้งบประมาณของกรมฯ คือ โครงการจัดกิจกรรม “สีสันประเทศไทย ณ สะพานภูมิพล” ด้วยการประดับไฟ เพื่อเพิ่มความสง่างามให้กับสะพานของพ่อ ในช่วง พ.ย.64-ม.ค.65 และโครงการประดับไฟ “สะพานมหาเจษฎาบดินทรทนุสรณ์”

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สำหรับการส่งเสริมทัศนียภาพระบบรางของ รฟท. เป็นเส้นทางท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยส่งเสริมทัศนียภาพริมทางรถไฟ 9 เส้นทาง วงเงินรวม 15 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ย. 64-เม.ย.65 แบ่งเป็น พัฒนาทางรถไฟเส้นทางท่องเที่ยว 7 เส้นทาง ด้วยพันธุ์ไม่สวยงามประจำถิ่น วงเงินรวม 7 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาเส้นทางโดยสารสายหลักของประเทศ 2 เส้นทาง วงเงิน 8 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน เช่น แนวเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของการการส่งเสริมทัศนียภาพท่าเรือของกรมเจ้าท่า เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวทางน้ำ และส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย 15 โครงการ วงเงินรวม 723 ล้านบาท และปริมณฑล 6 โครงการ วงเงิน 157 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาท่าเรือในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ 9 โครงการ วงเงิน 566 ล้านบาท เช่น ท่าเรือเฟอร์รี่เกาะสมุย, ท่าเรืออเนกประสงค์ บริเวณอ่าวมะขามป้อม จ.ระยอง เป็นต้น.