สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่าพรรครีพับลิกันจัดการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมกันใน 15 รัฐ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หรือ “ซูเปอร์ทิวสเดย์” ในรัฐแอละบามา รัฐอะแลสกา รัฐอาร์คันซอ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐโคโลราโด รัฐเมน รัฐแมสซาชูเซตส์ รัฐมินนิโซตา รัฐนอร์ทแคโรไลนา รัฐโอคลาโฮมา รัฐเทนเนสซี รัฐเทกซัส รัฐยูทาห์ รัฐเวอร์มอนต์ และรัฐเวอร์จิเนีย


นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐ กวาดชัยชนะไปได้ในอย่างน้อย 12 รัฐ โดยพ่ายแพ้เพียงที่รัฐเวอร์มอนต์ ให้กับคู่แข่งเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ คือนางนิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ แม้รัฐยูทาห์และรัฐอะแลสกายังไม่มีผลการนับคะแนนออกมา แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่า จะเป็นชัยชนะของทรัมป์


ขณะที่กลุ่มรัฐในศึกซูเปอร์ทิวสเดย์มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของที่ผู้สมัครต้องการ คืออย่างน้อย 1,215 จากทั้งหมด 2,429 เสียง เพื่อให้ได้รับความสนับสนุนเพียงพอเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน สู้ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 การที่ทรัมป์กวาดชัยชนะไปได้เกือบหมด ทำให้ขณะนี้อดีตผู้นำสหรัฐสะสมคณะผู้เลือกตั้งไปได้แล้ว 942 เสียง ส่วนเฮลีย์มีอย่างน้อย 88 เสียงเท่านั้น

นางนิกกี เฮลีย์


ด้านทรัมป์กล่าวว่า พอใจเป็นอย่างมากกับผลการเลือกตั้งของศึกซูเปอร์ทิวสเดย์รอบนี้ ที่ยิ่งเป็นการรับประกันมากขึ้น ว่าตัวเขาจะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกัน แข่งขันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตอีกครั้ง ส่วนฝ่ายสนับสนุนทรัมป์เริ่มเรียกร้องมากขึ้น ให้เฮลีย์ถอนตัว เนื่องจากแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่เธอจะสามารถรวบรวมเสียงคณะผู้เลือกตั้ง ได้มากพอที่จะแซงทรัมป์ และเป็นตัวแทนพรรคได้


อนึ่ง ศาลฎีกาสหรัฐเพิ่งมีมติเมื่อวันจันทร์ ว่าองค์กรและหน่วยงานระดับรัฐ ไม่มีอำนาจบังคับใช้มาตรา 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 เพื่อตัดสิทธิบุคคล “ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง และการก่อการกบฏ” จากการสามารถลงมัคร และดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับประเทศ ฝ่ายที่มีอำนาจ “คือสภาคองเกรสเท่านั้น”


มติของศาลสูงสุดแห่งสหรัฐ ถือเป็นการประกาศให้คำตัดสินของศาลสูงรัฐโคโลราโด “เป็นโมฆะ” จากกรณีมีมติ เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว อ้างมาตรา 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ว่าทรัมป์ “ผู้ขาดคุณสมบัติทางการเมือง” เนื่องจากอดีตผู้นำสหรัฐมีความเกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์จลาจล ที่อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564


ทั้งนี้ มาตรา 3 ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ได้รับการบัญญัติในสมัยสงครามกลางเมืองสหรัฐ เมื่อปี 2411 มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายสนับสนุนกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ ดำรงตำแหน่งในสภาคองเกรสและรัฐบาลกลาง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES