วันนี้ (6 มี.ค.) นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ สเปกตัม โรดแม็พ (Spectrum Roadmap) ในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยจะมีรายละเอียดเรื่องการนำคลื่น 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 3500 MHz มาประมูล โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ใช้อยู่คือ 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่จะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568 นั้น จะนำมาดำเนินการอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะจัดประมูลได้ก่อน ที่ใบอนุญาตจะมีหมดอายุอย่างแน่นอน

“เอ็นที ต้องทำแผนคลื่นความถี่ของเอ็นทีให้ชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่มีคลื่นความถี่ดังกล่าว ที่เหลือเพียงคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ที่ได้จากการประมูลเท่านั้น โดยต้องส่งกลับมาให้ กสทช. เร็วที่สุด ซึ่งตนเองได้คุยกับ พ.อ.สรรชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที เรียบร้อยแล้ว ว่า จะต้องจัดทำแผนว่า จะเดินหน้าธุรกิจอย่างไร เพื่อที่จะได้ขอกรอบงบประมาณจากรัฐบาล และทาง กสทช. จะได้ดำเนินการประมูล คลื่นดังกล่าวก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาต ซึ่งตามกฎหมายคลื่นความถี่นั้น ต้องนำมาประมูล แต่ไม่ควรแพง เพราะภาระจะตกที่ผู้บริโภค สิ่งสำคัญ คือเ รื่องการเงินของเอกชน ว่ามีความพร้อมในการเข้าประมูลหรือไม่”

นายสมภพ กล่าวต่อว่า สำหรับกรอบการทำงานจัดทำโรดแม็พ เพื่อประมูลคลื่นความถี่นั้น จะมีการจัดโฟกัสกรุ๊ป 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบข้อคิดเห็นและความต้องการของเอกชนว่ายังสนใจประมูลคลื่นหรือไม่ และมีข้อเสนอแนะอย่างไร ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่าคลื่น 850 MHz และ 2300 MHz มีความน่าสนใจน้อย คลื่น 3500 MHz ที่มีระบบนิเวศที่พร้อมในการทำธุรกิจมากกว่า สามารถรองรับเทคโนโลยีวีอาร์ และเออาร์ ที่จะมาในอนาคตได้ ขณะที่คลื่น 2100 MHz ของเอ็นที ก็คืนมาให้ กสทช. เพียง 15 MHz ควรจะรออีก 2 ปี เพราะคลื่นของเอกชนจะหมดอายุใบอนุญาตที่จะต้องคืนให้กับ กสทช. อีก 45 MHz 

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. กล่าวว่า สิ่งที่บอร์ด กสทช. ต้องเร่งดำเนินการ คือ การเตรียมความพร้อมรับมือ 3 คลื่นความถี่ของ เอ็นที ได้แก่ คลื่น 850 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz ที่กำลังจะหมดในเดือน ก.ย. 68 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้าของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และเอไอเอส ที่ทำสัญญาเป็นพันธมิตรในการใช้คลื่นของเอ็นทีด้วย โดยทรูใช้คลื่น 850 MHz สำหรับลูกค้าทรู และคลื่น 2300 MHz สำหรับลูกค้าดีแทค ขณะที่เอไอเอสใช้คลื่น 2100 MHz 

“โดยความคิดเห็นส่วนตัว เชื่อว่าเอกชนไม่น่าสนใจประมูลคลื่นในราคาแพงอีกแล้ว และก็ไม่รู้ว่าจะมีเอกชนรายใหม่ สนใจเข้ามาด้วยหรือไม่ ดังนั้นโรดแม็พเป็นสิ่งสำคัญที่ กสทช. ต้องเร่งวางแผนเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ทุกวันนี้บริการอินเทอร์เน็ตของค่ายมือถือก็ได้รับเสียงบ่นจากผู้ใช้งานอยู่แล้ว หากคลื่นหายไปอีก 3 คลื่น ก็มีสิทธิที่คุณภาพ บริการจะแย่เพิ่มขึ้นอีก”