เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤติประชากร” ว่า สถานการณ์โครงสร้างประชากร อัตราเกิดน้อย ประชากรสูงอายุมากขึ้นจนอาจกลายเป็นสึนามิที่ตั้งตัวไม่ท้น ไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร หากยังไม่ตระหนักและเร่งแก้ไข และไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่รัฐบาล กี่นายกฯ หากยังเป็นแบบเดิมก็จะเกิดกระทบและตายหมู่ได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ และต้องทำทันทีและทำเชิงรุก คือ 1.การเสริมพลังวัยทำงาน ให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ พัฒนาทักษะ สร้างงานสร้างอาชีพ 2.เพิ่มคุณภาพเด็กและเยาวชน 3.ดึงศักยภาพผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ขณะที่ผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ต้องมีศูนย์บริบาลผู้สูงอายุในชุมชนที่ให้ลูกหลานและชุมชนร่วมกันดูแล 4.เสริมศักยภาพและสร้างงานให้กับคนพิการ และ 5.สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อสถาบันครอบครัวให้มีความมั่นคงในชีวิต

“ซึ่ง พม.ทำแล้ว โดยได้เปลี่ยนบทบาทจากการสงเคราะห์มาเป็นการสร้างพลัง ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเป้าหมายให้สามารถพึ่งตนเองได้จึงอยากให้ทุกกระทรวงร่วมทำงานไปพร้อมกับ พม. ทั้งนี้ การที่พูดถึงแต่สวัสดิการแบบถ้วนหน้า เราต้องคำนึงถึงระบบการคลังของประเทศไทยด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ถังแตกได้ แต่สิ่งที่ พม.จะให้ถ้วนหน้าได้คือโอกาสในการยืนและดำรงชีพบนลำแข้งความสามารถตนเอง” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย คงไม่ใช่เพียงแค่ให้บุคคล 2 คนมาอยู่ด้วยกันแล้วเกิดใหม่ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ Gen Z Gen Alpha  ทำไมไม่อยากมีลูก เพราะยังมีองค์ประกอบทั้งเรื่องความปลอดภัยในชีวิต คุณภาพชีวิต การศึกษา การเดินทาง รายได้ การดำรงชีพ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จะมีการ workshop ระดมความคิดหามาตรการในรูปแบบ world cafe จากทุกกระทรวง เพื่อสรุปทำสมุดปกขาวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้นเม.ย. เพื่อนำสู่การดำเนินการของทุกกระทรวง และปลายเม.ย. จะนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องประชากร เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาทั้งในและต่างประเทศร่วมกัน.